กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--Triple J Communication
ก.พลังงาน ช่วยเกษตรกรสู้ภาวะภัยแล้ง สนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานชุมชน ด้วยระบบสูบน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยเกษตรกรลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้เป็นจำนวนกว่า 199 ล้านบาท
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด และมีความห่วงใยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและปัญหาต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้น กระทรวงพลังงาน จึงได้ ดำเนิน "โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง" ขึ้น เพื่อสนับสนุนความรู้ เทคนิคและเทคโนโลยีการสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมที่เคยประสบปัญหาภัยแล้ง ให้มีอีกทางเลือกหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อช่วยไม่ให้พืชที่เพาะปลูกเสียหายจากการขาดแคลนน้ำเมื่อประสบปัญหาภัยแล้ง และช่วยลดต้นทุนจากการทดแทนการใช้น้ำมัน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้พลังงานทดแทนที่เหมาะสม
กระทรวงพลังงาน โดยสำนักการมีส่วนร่วมของประชาชน (สสช.) ได้มอบหมายให้สำนักงานพลังงานจังหวัด ดำเนินการประสานเครือข่ายพลังงานชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการดำเนินงาน โดยการส่งเสริมระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อขยายผลเพิ่มจำนวนเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในชุมชน ให้สอดคล้องกับศักยภาพและปัญหาของชุมชน และให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการตนเองทางด้านพลังงาน และนำไปสู่การลดต้นทุนการใช้พลังงานเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค
โดยโครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา กระทรวงพลังงานได้จัดทำโครงการ จำนวน 53 ระบบ ช่วยเหลือเกษตรกร จำนวน 410 ราย พื้นที่ได้รับประโยชน์จำนวน 4,600 ไร่ ซึ่งสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น จำนวน 133 กิโลวัตต์ และในพื้นที่จังหวัดลพบุรีนั้น กระทรวงพลังงานได้จัดทำโครงการ จำนวน 4 ระบบ ให้การช่วยเหลือเกษตรกรจำนวน 31 ราย พื้นที่ได้รับประโยชน์จำนวน 364 ไร่ ซึ่งสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น จำนวน 10 กิโลวัตต์
"สำหรับโครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้งได้เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 และได้ดำเนินการส่งเสริมระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 846 ระบบ ในพื้นที่ 56 จังหวัดในเขตพื้นที่ภัยแล้งทั่วประเทศ ให้การช่วยเหลือเกษตรกร ไม่น้อยกว่า 9,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 40,000 ไร่ สามารถเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น จำนวน 2,115 กิโลวัตต์ คาดการณ์ว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตของเกษตรกรได้ไม่น้อยกว่า 199 ล้านบาท" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว