กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--โรงพยาบาลพระรามเก้า
ถ้ากล่าวถึงโรคเบาหวาน ทุกคนจะทราบดีว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่จะสามารถควบคุมอาการของโรคได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยการดูแลเรื่องอาหาร ออกกำลังกาย ระมัดระวังโรคแทรกซ้อน และใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้การดูแลเรื่องบาดแผลที่เท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวานก็สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากแผลของผู้ป่วยจะหายช้ากว่าปกติ และหากดูแลรักษาไม่ดีอาจมีโอกาสถูกตัดขา แต่ถ้ารู้จักวิธีการดูแลสุขภาพเท้าอย่างถูกต้องก็จะสามารถป้องกันการเกิดแผลที่เท้าได้ โดยขั้นตอนในการดูแลเท้าของผู้ป่วยโรคเบาหวานมีดังนี้
1. ล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่อ่อนๆ หลังอาบน้ำเช้า-เย็น เช็ดเท้าให้แห้งด้วยผ้าที่สะอาดและนุ่มโดยเฉพาะตามซอกนิ้วเท้า โดยหมั่นล้างทำความสะอาดทุกวันจะช่วยป้องกันความอับชื้นซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้
2. ควรตรวจเท้าด้วยตนเองทุกวันเพื่อค้นหาความผิดปกติ เช่น ตาปลา หนังหนาๆ ตุ่มพุพอง รอยแตกของผิวหนัง แผลอักเสบ ผิวคล้ำหรือซีดผิดปกติ เล็บขบ ส่วนบริเวณนิ้วเท้า ซอกนิ้วเท้า ส้นเท้า ฝ่าเท้าที่ยากต่อการดูอาจใช้กระจกช่วยได้ เมื่อพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที (ไม่ควรตัดตาปลาหรือหนังหนาๆ ด้วยตนเอง)
3. ทาโลชั่นเพื่อให้ผิวชุ่มชื้นหลังอาบน้ำเช้า-เย็น โดยหยดโลชั่นลงบนฝ่ามือแล้วจึงลูบที่เท้าและหลีกเลี่ยงการทาโลชั่นบริเวณซอกนิ้วเพื่อป้องกันการหมักหมม ส่วนคนที่ผิวหนังชื้น เหงื่อออกง่าย แนะนำเช็ดเท้าให้แห้งและทาแป้งเพื่อลดความอับชื้น
4. ควรสวมถุงเท้า หรือถุงน่องทุกครั้งเมื่อสวมรองเท้า และหลีกเลี่ยงการสวมถุงเท้าหรือถุงน่อง ที่รัดแน่นจนเกินไป
5. สวมรองเท้าตลอดเวลาทั้งในบ้านและนอกบ้าน ห้ามเดินเท้าเปล่า รองเท้าต้องไม่หลวมหรือคับจนเกินไป และก่อนใส่ต้องสำรวจดูสิ่งแปลกปลอมด้านในเสมอเพื่อป้องกันการเกิดบาดแผล
6. หลีกเลี่ยงการแช่เท้า ไม่ว่าจะเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา เพื่อไม่ให้ผิวหนังเปื่อยยุ่ยง่าย และต้องระมัดระวังในรายที่มือและเท้าชา การแช่น้ำอุ่นหรือน้ำร้อนจัดเกินไปอาจทำให้เกิดการพุพองและติดเชื้อได้ง่าย
7. เมื่อเกิดบาดแผล ควรล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว หรือน้ำเกลือล้างแผลตามด้วย เบตาดีน (หลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์ ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์) ถ้าแผลไม่หายเริ่มมีการอักเสบ ปวด บวม แดง จับดูร้อนๆ มีหนอง มีไข้ ควรรีบปรึกษาแพทย์
8. ตัดเล็บหลังจากอาบน้ำเสร็จ เพื่อให้เล็บนิ่มและตัดง่ายขึ้น และตัดเล็บอย่างถูกวิธี ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ ตัดเล็บให้ตรงพอดีกับความยาวของนิ้ว ไม่ตัดสั้นเกินไป เพื่อป้องกันการเกิดเล็บขบ ตะไบเล็บให้โค้งตามรูปนิ้วด้วยความระมัดระวัง ตะไบไปในทางเดียวกันไม่ย้อนไปย้อนมา เพื่อป้องกันการเสียดสีกับผิวหนังรอบๆ เล็บ ลบคมของเล็บโดยการใช้ตะไบฝนจากบนเล็บและหันปลายตะไบเข้าหาตัวเอง กรณีพบว่ามีปัญหาของเล็บ เล็บหนา แข็ง ยากต่อการตัด เล็บขบ หรือปัญหาใดๆที่เกี่ยวกับเล็บ ควรรีบปรึกษาแพทย์
9. บริหารเท้าเป็นประจำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด เพื่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และป้องกันข้อต่อยึดติด การยืดกล้ามเนื้อก่อนการบริหารเท้า สามารถทำได้โดยนั่งเหยียดปลายเท้า กระดกปลายเท้าขึ้น จนรู้สึกน่องตึง ยืน ก้าวขาใดขาหนึ่งไปข้างหน้า เข่าหน้าย่อ เข่าหลังเหยียดตรง ส้นเท้าหลังติดพื้นแล้วตรง การยืดกล้ามเนื้อควรเกร็งค้างไว้ประมาณ 10-15 นาที ประมาณ 3-5 ครั้ง ต่อหนึ่งท่า ท่าที่สามารถใช้ในการออกกำลังกายได้ เช่น เขย่งปลายเท้าขึ้น-ลง กระดกปลายเท้าขึ้น-ลง กระดกปลายเท้าขึ้นสูง เหยียดปลายเท้าลงต่ำ หมุนฝ่าเท้าเข้าด้านใน เหยียดปลายเท้าลง สลับกับหมุนฝ่าเท้าออกด้านนอก กระดกข้อเท้าขึ้นสูง หมุนข้อเท้าในลักษณะตามเข็มนาฬิกา สลับทวนเข็นนาฬิกา กาง-หุบนิ้วเท้า งอ-เหยียดนิ้วเท้า
10. งดการสูบบุหรี่ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่สำคัญของการเกิดเส้นเลือดตีบตัน และการสูญเสียเท้า
การเกิดแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวานสามารถป้องกันได้ จากการศึกษาพบว่า ร้อยละ 15 ของผู้ป่วยเบาหวานจะเกิดแผลที่เท้าสามารถนำไปสู่การตัดขา และอัตราเสี่ยงของการถูกตัดขาในผู้ป่วยเบาหวานจะเป็น 15-40 เท่าของผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน การมีความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลเท้า จึงสามารถลดโอกาสของการสูญเสียอวัยวะได้ ดังนั้นการตรวจดูเท้าทุกวันเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ประหนึ่งว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ท่านต้องทำในชีวิตประจำวัน และมีความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องการดูแลเท้า เมื่อใดควรพบแพทย์ เชื่อมั่นได้เลยว่าท่านจะไม่ต้องสูญเสียเท้าหรือขาไปอย่างแน่นอน
ทีมแพทย์เบาหวานและเมตาบอลิก
โรงพยาบาลพระรามเก้า