กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--มทร.ธัญบุรี
สาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ ภาควิชาศิลปะการออกแบบและเทคโนโลยี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี แสดงผลงานใส่ไอเดียจากแรงบันดาลใจในชีวิตจริง รังสรรค์ผลงานตามสไตล์และเทคนิคของแต่ละคน 20 คน 140 ผลงาน
นายสุระจิตต์ แก่นพิมพ์ ประธานหลักสูตรสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ เล่าว่า สำหรับศิลปะนิพนธ์ของนักศึกษาสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ ในปีการศึกษา 2559 มีทั้งหมด 140 ผลจาก จากนักศึกษา 20 คน โดยแต่ละคนต้องออกแบบตัดเย็บคนละ 7 ชุด ภายใต้แนวคิดที่เกิดจากศิลปะบวกแฟชั่น โดยผลงานแต่ละชิ้นมีจุดเด่นและใส่เทคนิคที่แตกต่างกันออกไป เช่นเทคนิคเดรปปิ้ง การปะติด การปัก ล้วนเกิดจากการเรียนรู้ระหว่างที่เรียน รวมไปจนถึงในการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ รู้ถึงวิธีในการจัด การวางแผน และการทำงานร่วมกับคนอื่น
นางสาวอุมารังสี ทองแสง เล่าว่า ได้นำแรงบันดาลใจของ ศิลปะ อีบู อาร์ต (Edu Art) มาพัฒนา สร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้าที่ลักษณะพื้นผิวทะเลทราย และดินแห้งแล้ง มีผิวสัมผัสที่ให้ความรู้สึกถึงแรงบันดาลใจได้ดี โดยการใช้สีครีม เพื่อสื่อถึงความรู้สึกแห้งแล้งและทะเลทราย สีแดง เพื่อสื่อถึงอุณหภูมิความร้อน สีเทา และดำ เพื่อให้อารมณ์ความเศร้า การสูญเสีย รูปทรงของชุดคือ H-line และ x-line เป็นเสื้อผ้าทรงหลวมและทรงเข้ารูป จุดเด่นของชุดคือการนำผ้าที่ทำเทคนิคศิลปะ อีบู อาร์ต นำเทคนิคเดรปปิ้ง สื่อถึงความอิสระของคลื่นทราย
นางสาวเบญจรัตน์ เอกสนธิ เจ้าของชุดราตรี ได้แรงบันดาลใจมาจาดการศึกษาศิลปะการประดิษฐ์พวงมาลัยไทย เล่าว่า โดยทำการศึกษาศิลปะการประดิษฐ์พวงมาลัยไทยประเภทชายเดียว ที่มีลักษณะของการร้อยที่แตกต่างกัน วัสดุที่ใช้ร้อยมีการร้อยในลักษณะสับหว่างกันจนเกิดเป็นพื้นผิวที่สวยงามของพวงมาลัยลวดลายของพวงมาลัยแบบดั้งเดิมจะนิยมใช้ลวดลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ซึ่งลายแต่ละลายจะมีการจัดวางวัสดุที่ใช้ในการร้อยแตกต่างออกไป นำมาเป็นแนวคิดในการออกแบบชุดราตรี โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การใช้รูปแบบโครงร่างที่เรียบง่ายโดยเน้นเทคนิคในการตกแต่ง การถักเชือกแบบกลม การปรับเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ในการตกแต่งแต่ยังยึดหลักของวิธีการร้อยพวงมาลัย การถักเชือกแบบแบนที่แสดงให้เห็นถึงความสวยงามของพื้นผิวพวงมาลัยและยังคงไว้ซึ่งการปักลวดลายแบบดั้งเดิม
อีกหนึ่งผลงานชุดราตรี ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมบ้านเรือนไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ของนายภัทรกร พงษ์อนันต์ โดยเจ้าของผลงาน เล่าว่า ชุดราตรีเหมาะสำหรับผู้หญิงอายุ 35-45 ปี สามารถสวมใส่ได้ในโอกาสพิเศษ งานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆอยากให้ชุดราตรีมีกลิ่นอายความเป็นไทยร่วมสมัย จึงได้แนวคิดมาจากสถาปัตยกรรมบ้านเรือนไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ซึ่งได้เลือกรูปแบบบ้านเรือนในรัชกาลที่ 5 และรูปแบบของพระที่นั่งเทวราชสภารมย์ พระที่นั่งอภิเษกดุสิต ผสมผสานกับรูปแบบชุดราตรี เลือกใช้โทนสีขาวและสีดำ ทองและเขียวหัวเป็ด เพื่อให้กับเทรนด์เป็นแฟชั่นร่วมสมัย โดยได้เลือกแนวโน้มสิ่งทอจาก FDC BY DIP 2017
ผลงานชุดสตรีทแวร์ สำหรับผู้ชาย ได้รับแรงบันดาลใจมาจาดชุดอวกาศยุค 60s ผลงานของนายธีรโรจน์ มีแป้น เจ้าของผลงาน เล่าว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชุดอวกาศโครงการ Apollo 11 บวกกับการเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์ชาติในปี 1969 ลักษณะเป็นชุดสตรีทแวร์ที่สามารถสวมใส่ได้ทุกโอกาสตามความเหมาะสม โดยนำมาลดทอนรูปทรงและลักษณะของชุดอวกาศมาผสมผสานกับเครื่องแต่งกายที่มีความคลาสสิคของยุค 60s ซึ่งชุดอวกาศมีความหลวมโคร่งมาปรับใช้กับชุดที่สามารถสวมใส่ได้ในงานสังสรรค์แบบกลางวันและกลางคืน รวมไปถึงในชีวิตประจำวัน เหมาะกับผู้ชายอายุ 24- 33 ปี
ทางด้าน นายชาติชาย ไชยเดช ผลงานการออกแบบชุดสตรีทแวร์ สำหรับผู้หญิง แรงบันดาลใจมาจากเครื่องแต่งกายประเพณีปอยส่างลอง เล่าว่า เครื่องแต่งกายประเพณีปอยส่างลองเป็นเอกลักษณ์ของประเพณีการแต่งกาย ไม่ว่าจะในเรื่องของรูปแบบ สีสันที่สื่อให้เห็นถึงความเป็นมาของวัฒนธรรมกลิ่นอายและมนต์ขลังของความเป็นพม่า โดยรังสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคการตัดเย็บและการตกแต่งชิ้นงาน เช่น เทคนิคการปักลูกปัด การพิมพ์ผ้าดิจิตอล การเลเซอร์คัดผ้า โดยจากการสำรวจความต้องการกลุ่มเป้าหมาย พบว่า ชอบรูปแบบที่มีสีสันฉูดฉาด รูปทรงที่มีเอกลักษณ์ที่แปลกตาแต่สามารถนำมาสวมใส่ได้จริง มิกซ์ แอนด์ แมทซ์ เกิดความสนุกในการแต่งกาย
140 ชุด จาก 20 แนวความคิด ที่มาจากไอเดียว่าที่ดีไซน์เนอร์หน้าใหม่ การผสมผสานของงานศิลปะและแฟชั่นได้อย่างลงตัว ขอแสดงความยินดีกับนักศึกษาทั้ง 20 คน พูดได้คำเดียวว่าเจ๋งจริงๆ ต้องขอขอบคุณภาพสวยจากนางสาวธิฆัมพร ช่วยชนะ ที่ถ่ายทอดภาพสวยๆในงานครั้งนี้