กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ชี้แจงมาตรการความปลอดภัยในการรับฝากส่งสิ่งของ ย้ำห้ามฝากส่งสิ่งของต้องห้ามทางไปรษณีย์ โดยไปรษณีย์ไทยได้นำมาตรการรักษาความปลอดภัยและป้องกันการลักลอบฝากส่งสิ่งของต้องห้ามและผิดกฎหมายมาใช้ในการตรวจสอบสิ่งของ โดยหากมีการฝ่าฝืนจะสามารถตรวจพบและติดตามตัวผู้ฝากส่งสิ่งของผ่านกล้องวงจรปิด (CCTV) ของที่ทำการไปรษณีย์ รวมไปถึงเครื่องสแกนวัตถุระเบิดแบบ X-ray ภายในท่าอากาศยานของบริษัทพันธมิตรการขนส่ง ซึ่งทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของท่าอากาศยานในการตรวจสอบสิ่งของที่ฝากส่ง พร้อมประสานไปยังเจ้าหน้าที่ให้ตรวจสอบสิ่งของต้องสงสัยดังกล่าวก่อนเข้าสู่เส้นทางไปรษณีย์ต่อไป โดยหากมีการตรวจพบการฝ่าฝืน ผู้กระทำผิดจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า สำหรับมาตรการความปลอดภัยและป้องกันการลักลอบฝากส่งสิ่งของต้องห้ามและผิดกฎหมายนั้น ไปรษณีย์ไทยได้มีประกาศแจ้งผู้ใช้บริการรับทราบประเภท/ชนิดสิ่งของต้องห้ามและผิดกฎหมายภายในที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ พร้อมขอความร่วมมือผู้ใช้บริการให้แสดงบัตรประจำตัวประชาชนแก่เจ้าหน้าที่ทุกครั้งในการฝากส่งสิ่งของทางไปรษณีย์ เพื่อป้องกันการส่งสิ่งของผิดกฎหมายเข้าสู่เส้นทางไปรษณีย์ ซึ่งเป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ภายในที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ เพื่อเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยในการฝากส่งสิ่งของอีกทางหนึ่ง และนำเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดแบบตรวจโลหะมาใช้ในที่ทำการไปรษณีย์ และเครื่อง X-Ray มาใช้ในศูนย์ไปรษณีย์ทั่วประเทศสำหรับตรวจสอบสิ่งของที่สงสัยว่าอาจมีการลักลอบฝากส่งวัตถุระเบิดเข้าสู่เส้นทางไปรษณีย์อีกทางหนึ่ง
นางสมร กล่าวเสริมว่า ไปรษณีย์ไทย ขอชี้แจงว่า การฝากส่งวัตถุระเบิดผ่านทางไปรษณีย์นั้น เป็นการกระทำที่ "ผิดกฎหมาย" เนื่องจากเป็นสิ่งของต้องห้ามฝากส่งตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477 และผู้กระทำผิดจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดย สิ่งของต้องห้ามในการฝากส่งทางไปรษณีย์มีดังนี้ 1. สัตว์มีชีวิต 2. สิ่งเสพติด 3. สิ่งลามกอนาจาร หรือสิ่งที่มีถ้อยคำ เครื่องหมาย ลวดลาย หยาบช้า 4. วัตถุระเบิด อุปกรณ์ระเบิดที่มีแรง และไม่มีแรงระเบิด ปลอกกระสุน หรือสิ่งคล้ายคลึง 5. วัตถุไวไฟ 6. วัตถุมีคมที่ไม่มีเครื่องหุ้มห่อ ป้องกัน 7. สิ่งโสโครกหรือสิ่งมีพิษ อาจทำให้เกิดอันตรายแก่เจ้าพนักงาน 8. ธนบัตร 9. สิ่งของปลอมแปลงหรือลอกเลียนแบบโดยละเมิดลิขสิทธิ์
นอกจากนี้ สำหรับการฝากส่งสิ่งของเข้าสู่เส้นทางไปรษณีย์ทางอากาศนั้น ยังมีรายชื่อสิ่งของต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศเพิ่มเติมอีก 4 ชนิดดังนี้ 1. สารออกซิไดซ์และออร์แกนิกเปอร์ออกไซด์ 2. ก๊าซหรือกระป๋องสเปรย์ 3. สารกัดกร่อน และ 4.วัตถุและสารต้องห้ามในการขนส่งทางอากาศ อาทิ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์ที่มีการติดตั้งแบตเตอรี่ โดยหากมีการตรวจพบการฝ่าฝืน จะมีโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 80,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นางสมร กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทย ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาระบบเครือข่ายการขนส่งและมาตรฐานการให้บริการที่เป็นเลิศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพ ตามนโยบาย POST Excellence เพื่อเป็นเครือข่ายชีวิตและเศรษฐกิจไทยอย่างเต็มภาคภูมิ