กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ.2560 ในระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2560 ณ กองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 2 ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอ ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยจำลองสถานการณ์การเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ สถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงและควบคุมได้ยาก จำเป็นต้องยกระดับเป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) ซึ่งเป็นการฝึกการปฏิบัติทุกภารกิจตามระบบบัญชาการเหตุการณ์และการจัดการภาวะฉุกเฉิน เพื่อเตรียมความพร้อมและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติการรองรับสาธารณภัยอย่างเป็นระบบและมีเอกภาพตามมาตรฐานสากล
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่าปัจจุบัน สาธารณภัยมีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้ง มีรูปแบบซับซ้อนและทวีความรุนแรงมากขึ้น สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล การฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการภาวะฉุกเฉิน ให้มีประสิทธิภาพในการลดความสูญเสียจากภัยพิบัติ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ความสำคัญกับการบูรณาการเตรียมความพร้อมและตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่เป็นระบบและมีเอกภาพ โดยสั่งการให้จัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยทหาร ฝ่ายพลเรือน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะหน่วยงานกลางของภาครัฐดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ จึงได้กำหนดจัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ.2560 ในระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2560 ณ กองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 2 ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยหน่วยงานที่เข้าร่วมการฝึกฯ ประกอบด้วย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จังหวัดนครราชสีมา ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์บรรเทา สาธารณภัยกองทัพบก มูลนิธิ องค์กรการกุศล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจำลองสถานการณ์การเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ส่งผลให้อาคารสูงในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียงถล่ม และบางส่วนได้รับความเสียหาย ทำให้มีผู้ติดอยู่ในอาคารจำนวนมาก ระบบไฟฟ้าและการสื่อสารภายในอาคารถูกตัดขาด การเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความยากลำบาก สถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงและควบคุมได้ยาก จำเป็นต้องยกระดับเป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) พร้อมจัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ร่วม เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอำนวยการ สั่งการ ระดมสรรพกำลัง และเครื่องจักรกล ด้านสาธารณภัยในการปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งนี้ การฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แบบบูรณาการในครั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติการรองรับสาธารณภัย ทั้งการสนธิกำลังจากทุกภาคส่วน การระดมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย การวางระบบบัญชาการเหตุการณ์ การจัดตั้งองค์กรปฏิบัติการจัดการในภาวะฉุกเฉิน การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม การปฏิบัติการทางการแพทย์ การจัดตั้งและบริหารศูนย์พักพิงชั่วคราว ส่งผลให้การบัญชาการเหตุการณ์ การประสานการปฏิบัติ และการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเป็นระบบและมีเอกภาพตามมาตรฐานสากล ซึ่งนับเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างประเทศไทยให้เป็นเมืองปลอดภัยตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล ภายใต้วาระ "ประเทศไทยปลอดภัย" (Safety Thailand)