กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีป้องกันไฟฟ้าดูดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าในพื้นที่สาธารณะ ห้ามใช้ปากดื่มน้ำจากก๊อกตู้น้ำดื่มอย่างเด็ดขาด ไม่สัมผัสและใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าในพื้นที่สาธารณะในขณะที่ร่างกายเปียกชื้น หรือยืนบนพื้นที่ชื้นแฉะ หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณที่เป็นโลหะของตู้เอทีเอ็ม ตู้โทรศัพท์ ในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง ให้ออกห่างอย่างน้อย 1 เมตร เพราะหากกระแสไฟฟ้ารั่ว จะทำให้เสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูด
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อันตรายจากไฟฟ้าดูดไม่ได้เกิดเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ภายในบ้านเท่านั้น เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งอยู่บริเวณพื้นที่ชื้นแฉะและมีการใช้งานเกี่ยวข้องกับน้ำ มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว ทำให้ผู้ใช้งานได้รับอันตราย เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะวิธีป้องกันอุบัติภัยจากไฟฟ้าบริเวณจุดเสี่ยงในพื้นที่สาธารณะ ดังนี้ ตู้น้ำดื่ม ใช้แก้วน้ำหรือขวดรองน้ำจากก๊อกตู้น้ำดื่ม ห้ามใช้ปากดูดน้ำจากก๊อกตู้น้ำดื่มอย่างเด็ดขาด เพราะหากกระแสไฟฟ้ารั่ว จะทำให้ถูกไฟฟ้าดูดได้ หากพบสิ่งผิดปกติหรือถังน้ำรั่วควรหยุดใช้งานและแจ้งช่างผู้ชำนาญมาดำเนินการซ่อมแซม ตู้เอทีเอ็ม หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณที่เป็นโลหะโดยตรง โดยเฉพาะในขณะที่ร่างกายเปียกชื้นหรือยืนอยู่บนพื้นที่ชื้นแฉะ เพราะบางจุดอาจมีกระแสไฟฟ้ารั่ว ทำให้เสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูด สายไฟฟ้าแรงสูง หากพบสายไฟฟ้าแรงสูงขาดหรือหย่อนต่ำ ห้ามเข้าใกล้ สัมผัส หรือใช้วัสดุเขี่ยสายไฟอย่างเด็ดขาด เพราะหากมีกระแสไฟฟ้ารั่ว จะทำให้ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิตได้ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้ามาดำเนินการแก้ไข ทางเท้า โดยเฉพาะบริเวณที่มีตู้โทรศัพท์ เสาโคมไฟ ตู้ป้ายไฟโฆษณา หากมีน้ำท่วมขังบริเวณทางเท้าควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอุปกรณ์ที่เป็นโลหะ ให้ออกห่างจากบริเวณดังกล่าวอย่างน้อย 1 เมตร หากกระแสไฟฟ้ารั่ว จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูด