กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม – 7 มิถุนายน 2560 เกิดสถานการณ์อุทกภัย 27 จังหวัด สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 26 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดระนอง ทั้งนี้ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว พร้อมประสานจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันตก เตรียมพร้อมรับมือฝนตกชุกและฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ในช่วง 7 – 9 มิถุนายน 2560 รวมถึง 7 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เตรียมพร้อมรับมือระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ เฝ้าระวังสถานการณ์ภัย รวมถึงจัดเตรียมเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลาก และน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่างๆ โดยตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม – 7 มิถุนายน 2560 มีพื้นที่เกิดสถานการณ์อุทกภัย 27 จังหวัด รวม 72 อำเภอ 388 ตำบล 2,431 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 35,110 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 5 ราย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 26 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ในจังหวัดระนอง โดยน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองระนอง และอำเภอกระบุรี รวม 5 ตำบล 8 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 3 หลัง คอสะพาน 2 แห่ง ถนน 2 สาย ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 10 ครัวเรือน โดยมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ พะเยา พิษณุโลก อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร อุดรธานี สุโขทัย นครศรีธรรมราช สุพรรณบุรี เชียงใหม่ เลย และระนอง รวม 57 อำเภอ 314 ตำบล 2,324 หมู่บ้าน 26 ชุมชน ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว ทั้งการแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคและน้ำดื่มสะอาด การดูแลสุขภาพอนามัย การจัดรถบริการประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง การซ่อมแซมถนนและสิ่งสาธารณูปโภคที่ได้รับความเสียหายให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 7 – 9 มิถุนายน 2560 บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกชุกและฝนตกหนักมากบางพื้นที่ อีกทั้งคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง คลื่นสูง 2 – 3 เมตร โดยเฉพาะบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง มีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร โดยเฉพาะพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงาภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม รวมถึงคลื่นลมแรงซัดเข้าฝั่ง นอกจากนี้ ขอให้ 7 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี เตรียมพร้อมรับมือระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป