กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--โฟร์ฮันเดรท
วันนี้ (12 มิ.ย. 2560) ดร.อรรชกา ศรีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ "TISTR,s Form Local to Glocal International Forum : Food Industry 4.0"...แนวทางการพัฒนา/ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของไทยสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืนตามนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งจัดโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) วันที่ 12 มิถุนายน 2560 ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม A,B,C โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลลาดพร้าว
โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "Thailand 4.0 : From Local to Global" มีเนื้อหาโดยสรุปว่า …ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่ยุคสมัยใหม่ของการเติบโต ผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการ โดยการลงทุนในประสิทธิภาพและข้อได้เปรียบการแข่งขันอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ในการรองรับนโยบายและขับเคลื่อน Food Innopolis นั้น ด้วยศักยภาพของ วว. และความเชี่ยวชาญในด้านการวิจัย พัฒนาและบริการ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ รวมถึงการผลิตในเชิงพาณิชย์ กอปรกับในปัจจุบัน วว. ได้ขยายขอบเขตการดำเนินงานสู่การให้บริการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่ม SMEs ของไทย ที่ต้องการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านั้นสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว นับเป็นการปิดช่องว่างการนำผลิตภัณฑ์ไปสู่เชิงพาณิชย์ จึงเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงยั่งยืน สามารถผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล จำหน่ายสินค้าได้ในตลาดโลก อันจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า วว. จัดการประชุมนานาชาติดังกล่าว ในระหว่างวันที่ 12-13 มิถุนายน 2560 เวลา 8.30 -16.30 น. ณ ห้องวิภาวดีบอลรูมA,B,C โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลลาดพร้าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ภายในงานได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ ร่วมบรรยายถึงแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของไทยไปสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย Thailand 4.0 ในหัวข้อต่างๆ ดังนี้ 1.อาหารเพื่ออนาคต (Food for the Future) 2.แนวทางการส่งเสริม SMEs ด้านอาหารของไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 3.มาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety Standards) และ 4.การตรวจประเมินและบริหารความเสี่ยง (Risk Base Maintenance) ของโรงงานอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท ซึ่งรวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารไทย โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมอย่างคับคั่งประกอบด้วย ผู้ประกอบการของไทยทุกระดับรวมถึงผู้ประกอบการอาหารไทย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการพัฒนา วทน.ไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งนักวิจัยและนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนผู้สนใจทั่วไป
นอกจากการจัดประชุมวิชาการนานาชาติฯ ดังกล่าวแล้ว ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยและพัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี บริการอุตสาหกรรม ของเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชนทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ อาทิเช่น JAIMA , NMIJ, CAS Bangkok เป็นต้น รวมทั้งแสดงศักยภาพด้านผลงานวิจัยของ วว. ที่สอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 การให้คำปรึกษาและสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ตลอดจนการจับคู่ธุรกิจด้านอาหาร พร้อมทั้งผลงานวิจัยและพัฒนาใหม่ ซึ่งมีศักยภาพพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ ด้วยความสำเร็จจากการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ อันจะสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทยและภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ