กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปปรับลดลงทุกชนิด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 2.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 46.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 2.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลลดลง 2.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· ซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรในตะวันออกกลาง อาทิ อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยเมน บาห์เรน ลิเบีย และมัลดีฟส์ ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ โดยกล่าวหาว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้าย อาทิMuslim Brotherhood , Al Qaeda และ IS อีกทั้งกาตาร์มีท่าทีโน้มเอียงเข้าหาอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศคู่อริของกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council หรือ GCC) ส่งผลให้นักลงทุนวิตกว่ามาตรการลดปริมาณการผลิตจะไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ซาอุดีอาระเบียและพันธมิตร ประกาศปิดเส้นทางคมนาคมทั้งทางภาคพื้นดิน น่านน้ำ และ ทางอากาศ ทั้งขาเข้าและออกจากกาตาร์ มาตรการดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบกับปริมาณการผลิตน้ำมันของกาตาร์ ซึ่งอยู่ที่ 618,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างเด่นชัด แต่ประชาชนของกาตาร์เร่งรีบกักตุนอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งต้องนำเข้าจากประเทศกลุ่มอาหรับกว่า 90%
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 8 แท่น มาอยู่ที่ 741 แท่น เพิ่มขึ้นรายสัปดาห์ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 21
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 2 มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3.3 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 513.2 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10สัปดาห์
· รายงานฉบับเดือน มิ.ย. 60 ของ EIA ปรับคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2560 เพิ่มขึ้น20,000 บาร์เรลต่อวัน จากการคาดการณ์ครั้งก่อนมาอยู่ที่ 9.33 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 460,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า) และในปี 2561 เพิ่มขึ้น 30,000 บาร์เรลต่อวัน จากการคาดการณ์ครั้งก่อนมา มาอยู่ที่ 10.01ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 680,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อกับปีก่อนหน้า) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณามาตรการคว่ำบาตรด้านพลังงานของเวเนซุเอลา โดยเฉพาะบริษัท PDVSA เพื่อกดดันรัฐบาลของประธานาธิบดี นาย Maduro ซึ่งเป็นฝ่ายซ้ายจัดและถูกประชาชนประท้วงขับไล่ ทั้งนี้สหรัฐฯ อาจคว่ำบาตรบริษัท PDVSA โดยการยกเลิกการนำเข้าน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาซึ่งเป็น Supplier อันดับสามรองจากซาอุดีอาระเบีย และแคนาดา
· บริษัท Syncrude Canada ปรับลดคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ในเดือน มิ.ย. 60 ลง 3.5% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 5.8 ล้านบาร์เรล เนื่องจากปริมาณผลผลิตของแหล่ง Alberta ที่ปรับตัวลดลง
· เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 60 บริษัท Shell ประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) การส่งมอบน้ำมันดิบ Bonny Lightเนื่องจากท่อขนส่งน้ำมันดิบ Trans Niger (กำลังการขนส่งน้ำมันดิบ 180,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่ใช้ขนส่งน้ำมันดิบดังกล่าวถูกเจาะเพื่อขโมยน้ำมัน เดิมบริษัท Shell มีแผนส่งออกน้ำมันดิบ Bonny Light ปริมาณ 203,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน มิ.ย. 60 ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานผลกระทบต่อการผลิตและส่งมอบน้ำมันดิบดังกล่าว
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาด ICE ที่ลอนดอนและตลาด NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 มิ.ย. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3,160 สัญญา มาอยู่ที่ 242,208 สัญญา เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์เพิ่มขึ้น หลังนักลงทุนเข้าซื้อน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้า โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบได้แตะระดับต่ำสุดในช่วงนี้แล้ว นอกจากนี้ยังได้รับแรงสนับสนุนหลัง บริษัท Shell ประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) การส่งมอบน้ำมันดิบ Bonny Light สะท้อนถึงความไม่แน่นอนในไนจีเรียหนึ่งในประเทศผู้ผลิตOPEC ที่ได้รับอนุมัติให้สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบได้โดยไม่ถูกจำกัดโควตาการผลิต อย่างไรก็ตามการผลิตน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นจากไนจีเรียและลิเบียตั้งแต่เดือน ต.ค. 59 (ไนจีเรียสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันดิบ Forcados(ปริมาณการผลิต 250,000 บาร์เรลต่อวัน) หลังปิดดำเนินการกว่า 16 เดือน และลิเบียสามารถเปิดท่าขนส่งน้ำมันดิบ) คิดเป็นปริมาณรวมราว 600,000 บาร์เรลต่อวัน หรือครึ่งหนึ่งของปริมาณที่กลุ่ม OPEC ปรับลดลงตามมาตรการลดปริมาณการผลิต นอกจากนี้บริษัท Eni ของอิตาลีมีแผนที่จะเริ่มดำเนินการการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่แหล่งผลิต Sankofa (ปริมาณการผลิต 45,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่ประเทศกานา ในเดือน ก.ค. 60 เร็วกว่าแผนเป็นเวลา 3เดือน เมื่อรวมกับการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากลิเบียและไนจีเรียที่เป็นน้ำมันดิบชนิดเบาแล้ว อาจกดดันให้ส่วนต่างราคาระหว่างน้ำมันดิบ Dated Brent และ Dubai ให้แคบลงอีก ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่กรอบ 47-51 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล น้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 45-48 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบอยู่ในกรอบ 46-50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินรายสัปดาห์ลดลง หลังกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (Energy Information Administration–EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมัน Gasoline เชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าถึง 3.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 240.4 ล้านบาร์เรลสวนทางกับผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ที่คาดว่าจะลดลง 3.5 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้โรงกลั่น Lingen (กำลังการกลั่น 95,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเยอรมนีของบริษัทBP จะกลับมาดำเนินการหลังปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่กลางเดือน เม.ย. 60 อีกทั้งบริษัท China National Petroleum Cooperation (CNPC) ของจีนมีแผนเริ่มดำเนินการโรงกลั่นแห่งใหม่ (กำลังการกลั่น 230,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่เมืองYunnan โดยจะสามารถผลิตน้ำมันสำเร็จรูปป้อนตลาดได้ในเดือน ก.ย. 60 ทั้งนี้โรงกลั่นดังกล่าวใช้น้ำมันดิบจากท่อขนส่งพม่า-จีน ซึ่งช่วยเพิ่มสมดุลให้ตลาด Gasoline ของจีน ทางด้านปริมาณสำรองในญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น โดย IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้น 700,000 บาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 12.6 ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรองGasoline เชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้น 500,000 บาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่12.5 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์นี้คาดว่าน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60-64 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันน้ำมันดีเซลรายสัปดาห์ลดลง โดยถูกกดดันจากอัตราการกลั่นที่เพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาคหลังโรงกลั่นเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุง โดย Bloomberg รายงานอัตราการกลั่นของโรงกลั่นอิสระจีน (Teapot Refinery) ณ วันที่ 1 มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้น 3.6% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 60.2% อย่างไรก็ตามบริษัท Indian Oil Corp. (IOC) ออกประมูลซื้อ Diesel ปริมาณ 596,000 บาร์เรล สำหรับส่งมอบเดือน ก.ค. 60 ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ปริมาณสั่งซื้อรวมสำหรับเดือน ก.ค. 60 อยู่ที่ 894,000 บาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมัน Koyali (กำลังการกลั่น 274,000 บาร์เรลต่อวัน) ปิดซ่อมบำรุง ทางด้านปริมาณสำรองในญี่ปุ่นและสิงคโปร์ปรับตัวลดลง โดย IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillatesเชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 มิ.ย. 60 ลดลง 800,000 บาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 12.5 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ และ PAJ รายงานปริมาณสำรอง Gasoil เชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3มิ.ย. 60 ลดลง 23,000 บาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 9.9 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์นี้คาดว่าน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 56-61 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล