กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--คอร์แอนด์พีค
ภาครัฐเร่งผลักดันบทบาทของฉลากโภชนาการในรูปแบบสัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" (Healthier Choice) เพื่อสร้างพลังเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Bio Economy 4.0) เน้นความเข้าใจและขยายศักยภาพการแข่งขันและเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของรัฐบาลตามนโยบาย Thailand 4.0 ในเรื่องของโภชนาการและบทบาทการพัฒนาอาหาร พรีเมียม พร้อมทำความเข้าใจกับฉลากยุค 4.0 เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารถึงผู้บริโภคให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า Thailand 4.0 กับฉลากโภชนาการ ถือเป็นประเด็นสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Bio Economy 4.0) เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจและขยายศักยภาพการแข่งขันและเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของรัฐบาลตามนโยบาย Thailand 4.0 ในเรื่องของโภชนาการและบทบาทการพัฒนาอาหารพรีเมียม พร้อมทำความเข้าใจกับฉลากยุค 4.0 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารถึงผู้บริโภคให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยฉลากโภชนาการแนวใหม่จะเป็นมิตรกับทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ซึ่งจากในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยได้แบ่งระบบเศรษฐกิจ ออกเป็น 4 ยุค โดยยุคแรกเป็นยุค 1.0 ซึ่งเน้นภาคการเกษตรเป็นหลัก จากการผลิตและขายพืชไร่พืชสวน ส่วนมากเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เข้าสู่ยุค 2.0 เริ่มเน้นภาคอุตสาหกรรมเบาหรืออุตสาหกรรมครัวเรือน โดยใช้แรงงานราคาถูก ยุค 3.0 จะเป็นการเน้นการส่งเสริมในภาคอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก เช่น การผลิตเครื่องจักรกล รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ และยุค 4.0 เป็นยุคปัจจุบัน ที่เน้นเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ที่เรียกว่า Value – Based Economy
ดร.ทิพย์วรรณ กล่าวต่อว่า การผลิตสินค้าทางการเกษตรและอาหารแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในปัจจุบัน มีการพัฒนาและจำแนกออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1. สินค้าสด (Premium Food) 2.อาหารที่มีลักษณะพิเศษ (Function Food Nutrition) เช่น อาหารทางการแพทย์ อาหารเฉพาะบุคคลที่ต้องการบริโภคเป็นพิเศษ และ 3.อาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy Food) ซึ่งจะต้องมีข้อมูลทางวิชาการและโภชนาการ รวมถึงมีการศึกษาวิจัยและได้รับการรับรองคุณภาพ ซึ่งสินค้าเหล่านี้ ได้มีการแบ่งเกรดและเข้าสู่กระบวนการตามกฏหมายคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย.ว่าด้วยเรื่องของอาหารพรีเมียม (อาหารทุกชนิด) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับ 365) พ.ศ.2556 ในเรื่องของการแสดงข้อความที่แสดงคุณภาพหรือมาตรฐานหรือคุณลักษณะเด่นเป็นพิเศษกว่าอาหารในชนิดหรือประเภทเดียวกัน ดังนั้นฉลากโภชนาการแนวใหม่ จะเป็นมิตรกับทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ซึ่งแนวโน้มด้านการตลาดและสังคมนั้นจะทำให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมในการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้บริโภคจะมองหาสิ่งใหม่ ๆ มุ่งเน้นในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของอาหาร ความสะดวกรวดเร็ว เช่น อาหารแช่แข็งและอาหารพร้อมทานมากขึ้น ทำให้เกิดระบบการขับเคลื่อนที่เรียกว่า Healthy Diet สู่ Healthy People อย.จึงส่งเสริมและผลักดันการกำหนดเกณฑ์สารอาหาร หรือคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์อาหาร โดยใช้สัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) ภายใต้การดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพเป็นสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายที่เน้นการลด หวาน มัน เค็ม เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงของการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือที่มักเรียกกันว่า โรค NCDs (Non-communicable diseases: NCDs) สัญญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์นี้จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้ออาหาร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการมีภาวะโภชนาการที่เหมาะสม และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโภชนาการเกินและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
ด้าน ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า บทบาทของฉลากโภชนาการในเวทีการค้าของอาเซียนและโลกนั้น มีการนำรูปแบบของสัญลักษณ์โภชนาการมาใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั้งอาเซียน ยุโรปและอเมริกา อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ฟินแลนด์ สโลเวเนีย กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ชิลี แคนาดา อาร์เจนตินา เป็นต้น สำหรับประเทศไทยภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศฯ (ฉบับที่ 373) พ.ศ. 2559 เรื่อง การแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากอาหาร เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ข้อมูลโภชนาการในรูปแบบสัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" (Healthier Choice) ต่อผู้บริโภคในการเลือกซื้ออาหารตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการ จากมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งหมด 254 ผลิตภัณฑ์ จาก 55 บริษัท ซึ่งแบ่งเป็น 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย กลุ่มเครื่องดื่ม 197 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มเครื่องปรุงรส 9 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป 3 ผลิตภัณฑ์ (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) กลุ่มผลิตภัณฑ์นม 42 ผลิตภัณฑ์ และกลุ่มขนมขบเคี้ยว 3 ผลิตภัณฑ์ สัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" ที่ดำเนินการนี้มุ่งหวังใช้เป็นสื่อหนึ่งที่ช่วยทำให้คนไทยตระหนักถึงการเลือกบริโภคอาหารที่หวาน มัน เค็ม ลดลง เพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรมในการปรับสูตรอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะมีการขยายขอบเขตกลุ่มอาหารในวงกว้างต่อไป
ด้าน ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าปัจจุบันสภาพแวดล้อมทางสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารนอกบ้านและบริโภคอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีพลังงาน ไขมัน โซเดียม และน้ำตาลสูง การบริโภคผักและผลไม้ที่น้อยเกินไป รวมไปถึงการไม่ออกกำลังกาย เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases: NCDs) โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีภาระโรคที่เกิดจากกลุ่มโรค NCDs มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากรายงานภาวะโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย ล่าสุดพบว่า กลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึง 314,340 ราย หรือร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยการกินอาหารที่มีพลังงานพอเหมาะ ไม่มากเกินความต้องการของร่างกาย ลด/เลี่ยงอาหารที่ หวานจัด มันจัด เค็มจัด มีส่วนสำคัญอย่างมากในการลดความเสี่ยงของการเป้นโรค NCDs สัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" เป็นสัญลักษณ์โภชนาการที่แสดงถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วว่ามีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และเกลือ (โซเดียม) ที่เหมาะสมเมื่อเทียบอาหารในกลุ่มเดียวกัน ขณะนี้มีการนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์อาหาร 8 กลุ่ม ได้แก่ อาหารมื้อหลัก เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์นม อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ไอศกรีม น้ำมันและไขมัน โดยตัวอย่างหลักเกณฑ์การพิจารณาของกลุ่มเครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา จะต้องมีโซเดียมน้อยกว่าหรือเท่ากับ 900 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนโต๊ะ (15 มิลลิลิตร) ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว จะต้องมีโซเดียมน้อยกว่าหรือเท่ากับ 750 มิลลิกรัม ต่อ 1 ช้อนโต๊ะ(15 มิลลิลิตร) เป็นต้น
ด้านนางบุญยา โป้บุญส่ง นายกสมาคมนิสิตเก่าคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในส่วนของ สอก.นั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการด้านอาหารและเป็นผู้บริโภคด้วย ซึ่ง สอก.อยากให้ผู้ประกอบการปรับตัวเข้าหาฉลากโภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" มากขึ้น ถึงแม้จะไม่ได้ทั้งหมด แต่ถ้ามีจำนวนผลิตภัณฑ์ที่มีโลโก้ "ทางเลือกสุขภาพ" เพิ่มขึ้นในท้องตลาด ย่อมเป็นทางเลือกทำให้ผู้บริโภคทั่วไป ได้มีโอกาสเลือกผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ มีมาตรฐาน ซึ่งจากการเสวนาครั้งนี้ สอก. เชื่อว่าจะเป็นแรงจูงใจและผลักดันให้ผู้ประกอบการหันมาสนใจ ผลิตอาหารลด หวาน มัน เค็ม มากขึ้น เพราะฉลากโภชนาการคือ ทางออกที่จะทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภค จะได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสุขภาพ ของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นต่อแบรนด์นั้นในระยะยาวด้วย
สำหรับผู้ประกอบการรายใด ที่มีความประสงค์จะติดต่อขอใช้สัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" (Healthier Choice) สามารถส่งใบสมัครขอรับการรับรองได้ที่มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการฯ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยดาวน์โหลดใบสมัคร และศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ http://healthierlogo.com หรือ