กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า อุตสาหกรรม ภาคบริการ มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก โดยในปี 2559 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยเป็น จำนวน 2.51 ล้านล้านบาท และใน 5 เดือนแรกของปี 2560 = 0.96 ล้านล้านบาท (รายได้ไทยเที่ยวไทยเดือนมกราคม – มีนาคม 2560) ประเทศไทย มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 1.24 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 5
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังก่อให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกมากมาย อาทิเช่น โรงแรม และที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ซึ่งธุรกิจดังกล่าวก่อให้เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้ การกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น เมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการขยายตัวสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คืออุบัติภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว การที่จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วยังอาจนำมา ซึ่งอุบัติเหตุ อาชญากรรม และการหลอกลวงนักท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ จากกลุ่มมิจฉาชีพ ที่อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้น กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักจึงได้วางแนวทางป้องกันปัญหาดังกล่าวที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยและการตัดสินใจเดินทางของนักท่องเที่ยว และอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศ รวมทั้งการจ้างงาน ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเชื่อมโยง
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จึงได้จัดทำโครงการประชาสัมพันธ์และเตือนภัยด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเตือนภัยด้านการท่องเที่ยว และให้คำแนะนำในการป้องกันภัยจากการท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยว พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ช่องทาง การร้องเรียน ร้องทุกข์ ของนักท่องเที่ยว รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นและทัศนคติอันดีต่อการท่องเที่ยว ให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ซึ่งมีการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ในจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญ 10 จังหวัด ได้แก่ 1) กรุงเทพมหานคร : สวนจตุจักร 2) สุราษฏร์ธานี : เกาะสมุย 3) เชียงใหม่ : ถนนคนเดินท่าแพ
4) ภูเก็ต : หาดป่าตอง 5) ชลบุรี : เมืองพัทยา ท่าเรือเกาะล้าน 6) กระบี่ : เกาะพีพี 7) พังงา : เขาหลัก
8) ประจวบคีรีขันธ์ : ตลาดโต้รุ่งหัวหิน 9) ลำปาง : ถนนคนเดินกาดกองต้า 10) บุรีรัมย์ : ถนนคนเดินเซาะกราว
นอกจากนี้ กองมาตรฐานฯ ได้มีการจัดทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเตือนภัยนักท่องเที่ยว จำนวน 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย จีน อังกฤษ แจกนักท่องเที่ยวทั้ง 10 จังหวัด พร้อมทั้งจัดทำคลิปประชาสัมพันธ์บทบาทและหน้าที่ของกองมาตรฐานฯ เพื่อเผยแพร่ทั้งในกรุงเทพและปริมณฑล
"ปัจจุบันมีศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (TAC) ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก เพื่อรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ แก้ไขปัญหา และดูแลช่วยเหลือนักท่องเที่ยวเมื่อประสบเหตุ ซึ่งมีจำนวน 16 ศูนย์ ใน 15 จังหวัด และในกรุงเทพฯ หากต้องการร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่ Call Center (สุวรรณภูมิ) (66) 2134 4077 เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ปลัดฯ ท่องเที่ยวฯ กล่าว