กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology) หรือ AIT ลงนาม ความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อร่วมมือกันในการบริหารจัดการและพัฒนาบุคลากรด้านทรัพย์สินทางปัญญา การใช้ประโยชน์จากข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านชีววิทยาศาสตร์ รวมถึงความคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาให้มีมูลค่าและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาธุรกิจและการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ก่อให้เกิดการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ TCELS ได้เป็นประธานในพิธีลงความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับ ศาสตราจารย์ วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ AIT พร้อมด้วย ดร.ธรรมรัตน์ คุตตะเทพ หัวหน้าโครงการวิจัย ผู้ที่ได้รับทุนพัฒนางานวิจัยจาก Bill & Melinda Gates Foundation และ คุณรัตนา เล็งศิริวัฒน์ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ร่วมให้เกียรติเป็นสักขีพยานพิธีลงนามในครั้งนี้ ณ ห้องประชุม บอลรูม 1 ชั้น 9 โรงแรมโนโวเทล เพลินจิต กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ TCELS กล่าวว่า "ความร่วมมือในครั้งนี้ ตอบรับตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมให้คนไทยมีการพัฒนาองค์ความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญา และการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป"
TCELS จับมือร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology) หรือ AIT โดย ดร.ธรรมรัตน์ คุตตะเทพ หัวหน้าโครงการวิจัย เป็นผู้ที่ได้รับทุนพัฒนางานวิจัยจาก Bill & Melinda Gates Foundation ซึ่ง AIT ได้เล็งเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา และการผลักดันงานวิจัยออกสู่ตลาดธุรกิจ จึงได้ร่วมกับ TCELS ในการพัฒนางานดังกล่าว โดยจัดทำข้อตกลงความร่วมมือดังนี้
1. TCELS ให้คำแนะนำในการตั้ง Technology transfer office ที่ AIT
2. TCELS ช่วยพัฒนาบุคลากรด้าน Technology transfer ของ AIT และสนับสนุนให้ได้รับ Registered Technology Transfer Professional (RTTP) ผ่านการเข้าร่วมโครงการของ APEC Biomedical Technology Commercialization Training Center
3. ร่วมบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของ AIT ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
ดร.นเรศ ยังกล่าวอีกว่า "TCELS ยังคงเดินหน้าในการส่งเสริมพัฒนานวัตกรรมเชิงสุขภาพ ส่งเสริมด้านเงินทุน การจับคู่ทางธุรกิจ ให้คำปรึกษาด้านการลงทุน รวมถึงการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ผลักดันงานวิจัยของคนไทยให้เกิดมูลค่าสูงสุดต่อประเทศ ทั้งยังขยายสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลกต่อไปในอนาคต"