กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--ไอแอมพีอาร์
ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักการจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2516 จนถึงปัจจุบันพบว่าพื้นที่ป่าไม้ทุกภาคมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่มีพื้นที่ภาคใดมีป่าเพิ่มขึ้นเลยแม้แต่น้อย สาเหตุหลักไม่ได้มาจากธรรมชาติแต่มาจากการรุกล้ำของประชาชนนั่นเอง
ลำพังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาป่าไม่อาจแก้ไขหรือปลูกต้นไม้ทดแทนส่วนที่เสียหายไปได้ในทันที ทางหนึ่งก็คือการสร้างจิตสำนึกให้คนไม่เข้าไปรุกล้ำทำลาย ในทางกลับกันต้องช่วยกันรักษาไว้โดยที่คนก็อยู่ได้ป่าก็ยังคงอยู่ต่อไป
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการอยู่อย่างมีจิตสำนึกและความเข้มแข็งของชุมชนทำให้ป่าอยู่รอดปลอดภัย เป็นพื้นที่หวงแหนของชุมชนก็คือ พื้นที่ป่าดอนเทพมูล หมู่ที่ 9 บ้านนาหวาน ตำบลท่าแซะ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร อันนับว่าเป็นป่าที่อยู่ใกล้เขตเมืองมากที่สุด มีพื้นที่ประมาณ 97 ไร่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้น้อยใหญ่และสมุนไพรนานาชนิด จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2558 ชาวบ้านนาหวานเห็นพ้องต้องกันว่าผืนป่าในชุมชนแห่งนี้นับวันจะถูกรุกล้ำจากชาวบ้านที่อยู่บริเวณรอบๆ ทั้งการรุกเข้าไปทำกิน ทำการเกษตร ปลูกปาล์ม ส่วนหนึ่งเข้าไปตัดไม้ออกมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต บางคราวก็มีคนจากหมู่บ้านอื่นเข้ามาตัดไม้ด้วย จึงต้องมาคิดทบทวนหาทางช่วยกันรักษาป่าแห่งนี้ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและป่าไม้อำเภอ ด้วยการสร้างกติกาชุมชนขึ้น
ขณะเดียวกันชุมชนยังได้แรงหนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำ"โครงการอนุรักษ์ผืนป่าดอนเทพมูลเพื่อพ่อหลวง" น้อมนำพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยมีกติกาชุมชนที่ยอมรับร่วมกันคือ 1.ห้ามนำสัตว์เข้าไปเลี้ยงในผืนป่า 2.พืชสมุนไพรและต้นไม้ในเขตป่าก่อนเก็บหรือตัดต้องแจ้งกรรมการให้รับทราบ มีการตรวจสอบก่อนตัดและเก็บหรือตัดได้บางประเภท 3.กำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนหากจับได้ต้องเสียค่าปรับ 500 บาทและปลูกพืชหรือต้นไม้ทดแทน
ปัจจุบันผืนป่าดอนเทพมูลยังคงความสมบูรณ์ มีรั้วกั้นป้องกันการบุกรุก ต้นไม้นานาชนิดเติบโตเขียวชอุ่ม จำนวนพืชพรรณเพิ่มขึ้นด้วยกิจกรรมปลูกป่าที่เกิดขึ้นในวาระต่างๆ กลายเป็นพื้นที่ฟอกปอดดักอากาศเสียจากโรงงาน สร้างความชุ่มชื้นให้กับแหล่งต้นน้ำ เป็นแหล่งอาหารชุมชน สามารถเก็บของป่าหรือสมุนไพรไปใช้ประโยชน์ได้ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชุมชนและยังส่งต่อจิตสำนึกไปยังคนรุ่นใหม่ สร้างเยาวชนเพื่อสืบสานงานอนุรักษ์ป่าไม้ให้เกิดความยั่งยืนต่อเนื่อง หนึ่งในเมล็ดพันธุ์นั่นคือ เด็กหญิงฟ้าใส โภคากร หรือ น้องอิง อายุ 8 ปี นักเรียนชั้นประถมปีที่ 2 โรงเรียนบ้านแก่งเพกา ต.ท่าแซะ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร มัคคุเทศก์น้อยแห่งบ้านนาหวานที่รู้จักต้นไม้ในป่าดอนเทพมูลเกือบทุกต้น เพราะได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงจากคุณตาซึ่งถือว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้านมีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรเป็นอย่างดี
ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ น้องอิงในฐานะมัคคุเทศก์น้อย จะมีหน้าที่ในการให้ความรู้ แนะนำสมุนไพร ต้นไม้ต่างๆในป่า ให้แก่คนในหมู่บ้าน หรือคนจากหมู่บ้านอื่นที่มาเยือนป่าดอนเทพมูล ทั้งในเรื่องประโยชน์การใช้ สรรพคุณทางยา หรือในบางคราวทางโรงเรียนละแวกใกล้เคียงก็อาจจัดให้นักเรียนมาหาความรู้นอกห้องเรียนศึกษาธรรมชาติ น้องอิงก็จะทำหน้าที่ตอบคำถามให้กับเพื่อนเด็กๆด้วยกันอย่างฉะฉาน
"หนูกับรุ่นพี่อีก 2-3 คนจะทำหน้าที่มัคคุเทศก์น้อย ก็มีหน้าที่ช่วยกันให้ความรู้เรื่องป่า ต้นไม้ต้นไหนมีประโยชน์อะไรบ้าง สมุนไพรชนิดไหนใช้รักษาโรคอะไร" น้องอิงบอก พร้อมย้ำว่าป่าไม้ให้ประโยชน์ที่เห็นชัดก็คือความร่มรื่น ช่วยป้องกันน้ำท่วม กรองอากาศเสียถ้าไม่มีต้นไม้กลิ่นจากโรงงานลอยมารบกวนชาวบ้านอยู่เสมอ ตัวน้องอิงและแม่ รวมทั้งน้องตัวเล็กๆมักจะมาร่วมกิจกรรมกับกลุ่มอนุรักษ์ป่าอยู่เสมอ ทั้งกิจกรรมรณรงค์หรือกิจกรรมปลูกป่า
ขณะที่ ลภัสรดา วารีเขต กรรมการหมู่บ้าน หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงที่ทำให้เกิดการอนุรักษ์ผืนป่าเล่าย้อนว่าในปีแรกที่คิดจะอนุรักษ์ป่าแห่งนี้ถูกข่มขู่และถูกกล่าวหาว่าเป็นคนนอกพื้นที่เพราะเข้ามาอยู่ในฐานะสะใภ้ แต่ก็ได้รับกำลังใจจากครอบครัวที่เห็นความมุ่งมั่นและความตั้งใจแน่วแน่จนประสบผลสำเร็จการรุกป่าคลี่คลายลง
"แรกๆ ก็มีท้อใจบ้าง แต่ก็ได้ไปขอความรู้ขอความร่วมมือ คุยกับป่าไม้อำเภอท่าแซะให้เข้ามาช่วยเรื่องกฎหมาย คุยกับตำรวจในหมู่บ้าน คุยกับท้องถิ่นทั้ง อบต. เทศบาลด้วย สร้างเครือข่ายชาวบ้านด้วยกัน จัดกิจกรรมบวชป่า ปลูกป่า ให้ช่วยกันบอกลูกๆไปบอกครูชักชวนผู้อำนวยการโรงเรียน พานักเรียนมาร่วมกิจกรรมในวันสำคัญ จนตอนนี้ทุกคนก็รู้กันแล้วการรุกทำลายไม่เกิดขึ้นแล้ว"
ลภัสรดา ยังบอกด้วยว่าทุกวันนี้มีชาวบ้านที่อยู่รอบๆป่าเป็นเครือข่ายคอยเฝ้าระวังส่งข่าวแลกเปลี่ยนกันทางสื่อสังคมออนไลน์ มีการเฝ้าระวังสำรวจป่าร่วมกันทุกเดือน หรือบางครั้งก็ปรึกษากันว่าอยากมีกิจกรรมปลูกป่าวันไหน จะปลูกพืชอะไรเพิ่มเติมบ้าง
"แนวคิดการจัดการป่าที่พวกเราทำนี้มาจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษาป่าก็จะถูกบุกรุก เรามองว่าสิ่งที่พวกเราทำก็เพื่อลูกหลานของเรา ถ้าเราไม่ทำป่าคงไม่เหลือ ถ้าเรายังมีป่าเราจะมีต้นน้ำลำธาร ชาวบ้านเข้าไปหากินได้ พืชผักบางอย่างไม่ต้องซื้อ สมุนไพรก็เก็บมาใช้ได้ ป่ายังช่วยกรองพิษซึ่งเห็นผลทันตา ป่าเป็นสมบัติของแผ่นดิน ที่นี่เป็นหมู่บ้านของเราเป็นที่อยู่ของลูกหลานของพวกเรา น่าดีใจที่เรายังมีลูกหลานสืบต่อการดูแลป่าของเราไว้" แกนนำอนุรักษ์ป่าคนสำคัญแห่งบ้านนาหวานย้ำหนักแน่น
ด้าน นันทวัฒน์ ช่วยชูหนู กำนันตำบลท่าแซะ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลประชาชนทั้งตำบล 18 บ้าน กล่าวว่าพื้นที่แห่งนี้แบ่งการปกครองออกเป็น 3 ท้องถิ่น ประกอบด้วยเทศบาลตำบลท่าแซะ เทศบาลตำบลเนินสันติ และองค์การบริหารส่วนตำบลท่าแซะ แต่ทุกคราวหากมีกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ป่าก็ชักชวนชาวบ้านให้มาร่วมกิจกรรมร่วมกันโดยไม่ได้แบ่งแยกว่าจะอยู่ในพื้นที่ปกครองของใคร และทุกครั้งเมื่อมีกิจกรรมชาวบ้านที่รับรู้ก็ให้ความร่วมมืออย่างดี
"จุดเด่นของหมู่บ้านนาหวานแห่งนี้ก็คือการรวมตัวของชาวบ้านมีจิตสาธารณะสูงมาก ประชุมหมู่บ้านทุกครั้งก็มากันพร้อมเพรียง ทั้งกรรมการหมู่บ้าน อบต. ผู้ใหญ่บ้าน ตัวผู้นำก็เข้ากับชาวบ้านได้ดี ประสานงานกับหน่วยงานไหนก็ราบรื่น เกิดความร่วมมือดี เป็นตัวอย่างให้หมู่อื่นๆ ซึ่งถ้าหมู่อื่นมีกิจกรรมเราก็จะชักชวนหมู่นี้ไปร่วมด้วยเช่นกัน เพราะถือว่าได้ช่วยกันพัฒนาชุมชนของเรา" กำนัน ต.ท่าแซะกล่าวพร้อมเผยด้วยว่า องค์การบริหารส่วนตำบลท่าแซะ ภายใต้การนำของ เชาวลิต พนัสนาชี นายกอบต.ท่าแซะให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ผืนป่าแห่งนี้เช่นกัน ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการดูแลป่าให้เกิดความต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการจัดอุปกรณ์ป้องกันไฟป่า การจัดตั้งอาสาสมัครป้องกันไฟป่าเนื่องจากเกิดไฟป่าขึ้นทุกปี
ป่าดอนเทพมูลปัจจุบันมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ไม่มีการบุกรุกอีกแล้วถือเป็นป่าผืนใหญ่ที่อยู่ใกล้ตัวเมืองห่างเพียง 3 กิโลเมตรเท่านั้น ด้วยความเข้มแข็งของชุมชนที่ช่วยกันปกป้องสร้างกติกาพร้อมๆกับการส่งต่อจิตสำนึกไปยังเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ป่าของพวกเขายังคงอยู่ต่อไป