กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--เนคเทค
"เนคเทค" เปิดกลยุทธ์ทางเทคโนโลยี เร่งส่งเสริมพัฒนา ECTI ด้านการแพทย์-สาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาขาดบุคลากร และเครื่องมือแพทย์ เน้นพึ่งตนเองด้านวิจัย พัฒนา ผลิต ทดแทนนำเข้าและส่งออกดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวในการบรรยาย "แนวทางส่งเสริมเทคโนโลยี ECTI เพื่อการแพทย์และสาธารณสุข" ในงาน "เมดิเทค เอเชีย & เด็นทอล เอเชีย 2000" ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ด้านกลยุทธ์ทางเทคโนโลยีของเนคเทคในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์และเครื่องมือการวินิจฉัยและรักษาซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขด้วยเหตุที่ไทยไม่มีงบประมาณจำนวนมากที่จะสนับสนุน ว่า การพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์และระบบแพทย์ทางไกลขึ้นเองในประเทศนับว่าเป็นกลยุทธ์ทางเทคโนโลยีวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพต่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาความต้องการเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์,คอมพิวเตอร์,โทรคมนาคมและสารสนเทศ(Electronics Computer Telecommunication and Information : ECTI) ในการพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ ระบบสารสนเทศภายในโรงพยาบาล ตลอดจนระบบเครือข่ายสำหรับแพทย์ทางไกล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารและจัดการข้อมูลทางการแพทย์ ซึ่งในแต่ละปีที่ผ่านมามีการนำเข้าเทคโนโลยีด้านนี้เป็นเงินจำนวนมาก เช่น สินค้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับอุตสาหกรรมสุขภาพ มีการนำเข้ามูลค่า 519 ล้านบาท ในปี 2541 และในปี 2542 คาดว่ามียอดนำเข้าถึง 542 ล้านบาท ซึ่งหากไทยสามารถวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นใช้ได้เองจะสามารถทดแทนการนำเข้าได้มาก และจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย"เราจะส่งเสริมเทคโนโลยีทาง ECTI ด้านนี้โดยจะมุ่งที่การวิจัย พัฒนาเอง และผลิตออกมาเพื่อใช้งานได้ ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หรือสามารถส่งออกไปขายได้เอง" ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวสำหรับผลการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ECTI มาเป็นเวลากว่า 10 ปีนั้น ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า ส่งผลให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์หลายประเภทที่สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัทเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยสามารถผลิต จำหน่าย และ ส่งออกได้จริง เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์ช่วยนับปริมาณแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อช่วยการกลืน เครื่องกระตุ้นการเจริญของกระดูก เป็นต้น--จบ--