สธ. ประกาศสมุนไพร 62 ชนิด ใช้ดูแลสุขภาพในงานสาธารณสุขมูลฐาน

ข่าวทั่วไป Tuesday August 22, 2000 11:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุขส่งเสริมประชาชนใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพตนเองและปลูกเป็นรายได้เสริมส่งป้อนโรงพยาบาลในโครงการนำร่อง 5 จังหวัด สสม. ประกาศให้สมุนไพร 62 ชนิด ใช้ดูแลสุขภาพตามกลุ่มโรคและอาการเจ็บป่วย 5 กลุ่ม ด้านอาจารย์คณะเภสัชฯ มหิดลเตือนการปลูกสมุนไพรเพื่ออุตสาหกรรมควรคำนึงวิธีการปลูก การเก็บเกี่ยว เก็บรักษา แปรรูปที่ได้มาตรฐาน มีสารสำคัญทางยา ที่ได้มาตรฐาน
นายเมธี จันท์จารุภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน (สสม.)กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการใช้สมุนไพรซึ่งส่งเสริมสุขภาพ และรักษาโรคไม่น้อยไปกว่าการแพทย์แผนปัจจุบัน และมีการประกาศให้สมุนไพรจำนวน 62 ชนิด เป็นสมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน โดยจำแนกสมุนไพรเพื่อการรักษาตามกลุ่มโรคและอาการเจ็บป่วย 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรคและอาการเจ็บป่วยในระบบทางเดินอาหาร กลุ่มโรคและอาการเจ็บป่วย ระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคและอาการเจ็บป่วยระบบทางเดินปัสสาวะ กลุ่มโรคผิวหนังและกลุ่มโรค และการเจ็บป่วยอื่นๆ
“ เรานำสมุนไพรมาใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน เพื่อให้ประชาชนำไปใช้ดูแลตนเองเป็นสำคัญ หากเจ็บป่วยหนักก็ต้องพบแพทย์ เราส่งเสริมให้ประชาชนมีและใช้สมุนไพรในครัวเรือน บริโภคเป็นอาหาร ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นำมาเป็นยา เสริมสร้างรายได้ด้วย กระทรวงฯ มีอาสาสมัครสาธารณสุขหรือ อสม. อยู่ 700,000 คนทั่วประเทศ สามารถที่จะเผยแพร่การใช้สมุนไพร เพื่อดูแลตนเอง ลดภาระค่าใช้จ่าย ” นายเมธี กล่าว
ด้าน รศ. พร้อมจิต ศรลัมพ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การใช้สมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองนั้น มักใช้ในรูปแบบของอาหาร เครื่องดื่ม เช่น น้ำมะตูมช่วยให้ชุ่มชื่นใจ การดื่มน้ำมะตูม ไม่สามารถรักษาโรคหัวใจได้ แต่ถ้าใช้ในลักษณะเป็นยาต้องควบคุมเรื่องคุณภาพ คำนึงถึงวิธีการปลูกที่ดี ได้สารสำคัญในปริมาณที่ต้องการ มีการจัดการที่ดี คำนึงถึงการเก็บเกี่ยว จัดเก็บสะอาด ไม่มีเชื้อโรคหรือเชื้อราปนเปื้อน หากจะปลูกเพื่อขายต้องศึกษาว่ามีแหล่งซื้อที่ใด ราคาเป็นอย่างไร มีวิธีแปรรูปอย่างไร
กระทรวงสาธารณสุขต้องให้ความสำคัญในเรื่องการเตรียมวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานด้วย หากจะส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเป็นอุตสาหกรรม หลายหน่วยงานต้องเข้ามาช่วยกัน กระทรวงเกษตรฯ เข้ามาส่งเสริมการปลูกที่ถูกวิธี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเข้ามาวิจัยเรื่องการควบคุมคุณภาพ ทำอย่างไร จึงจะได้สารสำคัญตรงตามที่ต้องการ” รศ.พร้อมจิต กล่าว สำหรับสมุนไพรที่รักษากลุ่มโรคและอาการเจ็บป่วยในระบบทางเดินอาหาร โรคกระเพาะอาหารให้ใช้ขมิ้นชัน กล้วยน้ำว้า ส่วนอาการท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียดให้ใช้สมุนไพรได้หลายอย่าง เช่น ขมิ้น ขิง กานพลู กะเพรา ตะไคร้ พริกไทย ดีปลี ข่า กระชาย แห้วหมู กระวาน เร่ว มะนาว กระทือ สมุนไพรที่ใช้รักษาอาการท้องผูก ได้แก่ ชุมเห็ดเทศ มะขาม มะขามแขก แมงลัก ขี้เหล็ก คูน สมุนไพรใช้รักษาอาการท้องเสีย ได้แก่ ฝรั่ง ฟ้าทะลายโจร กล้วยน้ำว้า ทับทิม มังคุด เสียดเหนือ รักษาอาการปวดฟัน ได้แก่ แก้ว ข่อย ผักคราดหัวแหวน รักษาอาการเบื่ออาหารได้แก่ บอระเพ็ด ขี้เหล็ก มะระ สะเดาบ้าน รักษาอาการทางเดินหายใจ ขับเสมหะได้แก่ ขิง ดีปลี เพกา มะขามป้อม มะนาว มะแว้งเครือและมะแว้งต้น รักษาโรคระบบทางเดินปัสสาวะ หากมีอาการขัดเบาใช้กระเจี๊ยบแดง ขลู่ ตะไคร้ สับปะรด หญ้าคา อ้อยแดง รักษาอาการกลากเกลื้อนใช้กระเทียม ข่า ทองพันชั่ง พลู ทาบริเวณที่เป็น นอกจากนี้ ใช้มะคำดีควายรักษาอาการชันนะตุ เป็นต้น นายเมธี กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การใช้สมุนไพรให้เกิดประสิทธิภาพต้องใช้ให้ถูกต้อง คือ ใช้ให้ถูกต้น ถูกส่วน ต้องรู้ว่าส่วนใดของสมุนไพรเป็นยา ใช้ถูกขนาด ถูกวิธี บางชนิดต้องใช้สด ดองกับเหล้า หรือต้ม
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีโครงการนำร่องพัฒนาสมุนไพรเสริมอาชีพให้กับ อสม. ในจังหวัดนครราชสีมา ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ อุทัยธานี--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ