กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--เอบีเอ็ม
ไคอาเจน (NASDAQ: QGEN; Frankfurt Prime Standard: QIA) เผยการขยายตลาดสู่ประเทศไทยในวันนี้ พร้อมเปิดสำนักงานในกรุงเทพฯ ด้วยแผนการขับเคลื่อนธุรกิจโดยความร่วมมือกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งศูนย์ความร่วมมือสำหรับเทคนิคทางด้านชีวโมเลกุล และการร่วมมือกับโรงพยาบาลรามาธิบดีเพื่อศึกษาข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับจีโนมจากเทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรม (Next generation sequencing: NGS) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมความสัมพันธ์ร่วมกับทีมวิจัยวิทยาศาสตร์ชีวภาพและผู้ให้บริการด้านสุขภาพในตลาดที่กำลังเติบโต ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น พร้อมเปิดสำนักงานใหม่ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
นายวิลเลียม ลิน ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท ไคอาเจน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า "กว่า 16 ปีที่ไคเจนได้พัฒนาความร่วมมือและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการแพทย์และหน่วยงานภาครัฐ วันนี้เรามีความภูมิใจที่จะสานต่อความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพการใช้ชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น โดยการเปิดสำนักงานใหม่ในกรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ รวมทั้งขยายความร่วมมือกับสององค์กรทางการแพทย์ชั้นนำของประเทศไทย โดยมุ่งหวังที่จะส่งมอบนวัตกรรมโซลูชั่น Sample to Insight สำหรับการทดลองด้านชีวโมเลกุล รวมทั้งโซลูชั่น NGS ของเรา"
ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล ไคอาเจนได้จัดตั้งศูนย์ความร่วมมือ ไคอาเจน-เวชศาสตร์เขตร้อน สำหรับเทคนิคด้านชีวโมเลกุล (QIAGEN-TropMed Center for Molecular Techniques) ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อนเพื่อส่งเสริมงานวิจัยโดยใช้เทคนิคทางชีวโมเลกุล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. หวัง หงุ่ยตระกูล ภาควิชาชีวโมเลกุลและพันธุศาสตร์โรคเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "ศูนย์ความร่วมมือ ไคอาเจน-เวชศาสตร์เขตร้อน สำหรับเทคนิคทางด้านชีวโมเลกุล ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับจีโนม ที่เป็นประโยชน์ต่อการวิจัยเกี่ยวกับโรคมาลาเรียและโรคอื่นๆ ความร่วมมือระหว่างเราแสดงถึงโอกาสในการร่วมมือของภาควิชาการและอุตสาหกรรม รวมถึงการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคนิคทางด้านชีวโมเลกุลสู่นักวิจัยรุ่นใหม่"
นอกจากนี้ ไคอาเจนยังได้ร่วมกับศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลรักษาส่วนบุคคลด้วยโซลูชั่น ไคอาเจน NGS
ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิง ธัญนันท์ เรืองเวทย์วัฒนา สาขาวิชาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า "โซลูชั่น ไคอาเจน NGS เป็นเทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมความไวสูงที่จะช่วยในการวิเคราะห์เลือดหรือตัวอย่างเนื้อเยื่อ เพื่อระบุการเปลี่ยนแปลงในระดับยีน ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ประเมินวิธีการรักษาที่ดีที่สุด เราคาดหวังว่าการร่วมมือครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการวินิจฉัยผู้ป่วยโรคมะเร็ง"
ดร. โรแลนด์ ไวน์ ผู้บริหารระดับสูงของหอการค้าเยอรมัน-ไทย กล่าวเสริมว่า การขยายธุรกิจสู่ตลาดประเทศไทย นับเป็นแนวทางในการสนับสนุนกลยุทธ์ของไคอาเจนในการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ภายใต้ความกาวหน้าของเทคโนโลยีด้านชีวโมเลกุลขั้นสูงสำหรับการรักษาและการวิจัยทางการแพทย์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว หอการค้าเยอรมัน-ไทยภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นบริษัทสัญชาติเยอรมันอีกหนึ่งแห่งตัดสินใจขยายธุรกิจในประเทศไทย ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งกับการเติบโตของไคอาเจนในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งต่อความก้าวทางเทคโนโลยีของบริษัทแก่วงการแพทย์ในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการใช้ชีวิตของชาวไทยให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย"
ในปี 2559 ยอดขายของไคอาเจนในตลาดเกิดใหม่ในอันดับสูงสุด 7 แห่งเติบโตร้อยละ 19 คิดเป็นร้อยละ 16 ของยอดขายสุทธิ 1.34 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ