กรุงเทพ--29 พ.ค.--ศงป.
ศงป.รุดร่วมโครงการสัมมนา "การสร้าง SMEs สู่ชุมชน" ในกทม.รวม 10 เขต โดยร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และกรุงเทพมหานคร สัญจรให้บริการปรึกษาปัญหาทางการเงินแก่ชุมชน หวังสร้างความเข้มแข็ง สร้างโอกาส และสร้างงานให้ชุมชน เริ่มพฤษภาคม ถึง กันยายน นี้
ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการนโยบาย ศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงินสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และประชาชน (ศงป.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร จัดทำโครงการสัมมนา เรื่อง "การสร้าง SMEs สู่ชุมชน" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการในด้านการพัฒนาความรู้ความสามารถแก่ผู้ดำเนินธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ด้วยการจัดหาผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่าง ๆ มาแนะนำความรู้ และเล่าถึงประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ เพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจ ด้วยการเสริมทักษะในการบริการจัดการ การตลาด และการเงิน สร้างความมั่นใจในการประกอบธุรกิจแก่ผู้ประกอบการเดิม และผู้ประสงค์จะเริ่มต้นกิจการ รวมทั้งการจัดกิจกรรมการให้บริการต่อเนื่อง การให้คำปรึกษาแนะนำการประกอบธุรกิจ และการให้บริการข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากิจการ
ทั้งนี้ ศงป. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานบริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการเงิน เห็นว่าโครงการสัมมนา "การสร้าง SMEs สู่ชุมชน" เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างมาก และเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่ภาครัฐริเริ่มเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครมากขึ้น โดยที่ผ่านมาเจาะแต่กลุ่มเป้าหมายในต่างจังหวัดซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สำหรับการออกบริการสัญจรให้คำปรึกษาแนะนำด้านการเงินของ ศงป. ตลอดช่วงเวลาของโครงการนี้ คือ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง เดือนกันยายน 2543 โดยจะเวียนจัดในเขตพื้นที่การปกครองของ กทม. รวม 10 เขต โดยเริ่มที่เขตบางพลัดปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ศงป. คาดว่าจะมีประชาชน และผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาด้านการเงินมาปรึกษา เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะลูกหนี้ NPL เนื่องจากธนาคารพาณิชย์บางแห่งเริ่มจะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดแล้ว
สำหรับการดำเนินงานของโครงการนี้ จะจัดสัมมนาให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนที่มีความสนใจทั่วไปในชุมชน โดยต้องมีการสำรวจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและ นำมาวิเคราะห์ความต้องการ เพื่อจัดกิจกรรมและบริการต่อเนื่อง ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายในการสนับสนุนกิจกรรม และประเมินผลการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงและขยายการดำเนินงาน ในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป โดยผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้ คือ ประชาชนจะได้รับความรู้ทางด้านเทคนิควิชาการอุตสาหกรรม พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานกว่า 5,000 คน สามารถสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ไม่น้อยกว่า 1,000 ราย สร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการใหม่ ไม่น้อยกว่า 500 ราย สร้างงานและสร้างอาชีพอิสระแก่ประชาชนทั่วไป ไม่น้อยกว่า 1,000 ราย และ เชื่อมโยงเครือข่ายในด้านการจัดการ การผลิต และการตลาด สำหรับการประกอบการในชุมชนไม่น้อยกว่า 100 ราย
ดร.วรากรณ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ของธุรกิจ SMEs ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะในเขตภูมิภาค หรือในกรุงเทพมหานครยังพอมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวดีขึ้น หากมีการปรับตัวทางธุรกิจให้ถูกทิศทาง และ แก้ปัญหาได้ถูกจุด การที่ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจ SMEs ในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางแห่งการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหากพัฒนาในส่วนกลางให้มีความเข้มแข็งและสามารถดำรงอยู่ได้ ก็มีผลทำให้ในส่วนภูมิภาคเข้มแข็งด้วยเป็นลูกโซ่ ดังนั้น จึงขอเชิญชวนให้ประชาชน หรือ ผู้ประกอบการ ที่กำลังประสบปัญหา ไม่ว่าจะด้านการเงิน หรือด้านอื่น ๆ กล้าเผชิญหน้าและเดินเข้าหาภาครัฐ เพื่อร่วมกันหาแนวทางออกและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้สำเร็จด้วยดี--จบ--
-สส-