กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
กรมศุลกากรแจ้งเตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อหากมีผู้แอบอ้างชื่อกรมศุลกากร เพื่อธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวกับการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ โดยที่ผ่านมากลุ่มมิจฉาชีพมีวิธีการแอบอ้างชื่อกรมศุลกากร ทำการหลอกลวงผู้เสียหายไปแล้วหลายกรณี ดังนี้
1. กรณีที่มีมิจฉาชีพโทรศัพท์มาแจ้งแก่ผู้เสียหายว่า มีพัสดุส่งทางไปรษณีย์มาจากต่างประเทศ แต่ติดปัญหาด้านภาษีกับกรมศุลกากร และแจ้งให้จ่ายเงินเพื่อเคลียร์ปัญหา ไม่เช่นนั้นจะถูกเจ้าหน้าที่ยึดพัสดุดังกล่าว กรมศุลกากรขอเรียนว่า จากข้อเท็จจริงในเรื่องของวิธีปฏิบัติสำหรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ณ ที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นำจ่ายและเรียกเก็บภาษีแทนกรมศุลกากร (ประเภทที่ 2) มีหลักการจัดเก็บภาษี คือ ของทุกชนิดที่นำเข้าทางไปรษณีย์ซึ่งมีราคารวมค่าฝากส่งไปรษณีย์ (POSTAGE) แต่ละรายที่มีราคาเกิน 1,500 บาท ต้องชำระภาษีศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม และต้องไม่เป็นของต้องมีใบอนุญาต เช่น อาหาร อาหารเสริม เครื่องสำอาง ยา ฯลฯ สำหรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ที่ได้รับการยกเว้นอากร มี 2 กรณีเท่านั้น คือ กรณีหีบห่อรวมค่าฝากส่งไปรษณีย์ (POSTAGE) มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท และเป็นตัวอย่างสินค้าและไม่มีราคาทางการค้า หากกรณีผู้รับเห็นว่าการประเมินราคาภาษีอากรไม่ถูกต้อง สามารถโต้แย้งค่าภาษีก่อนชำระ หากมีหลักฐานเพียงพอ โดยยื่นคำร้องพร้อมหลักฐาน ณ ที่ทำการไปรษณีย์ที่ระบุในใบแจ้งฯ ทั้งนี้ กรมศุลกากรขอชี้แจงว่าในการทำธุรกรรมทางการเงินเกี่ยวกับการชำระภาษี จะต้องมีเอกสารยืนยันและต้องไปชำระที่ทำการไปรษณีย์ที่ระบุในใบแจ้งฯ เท่านั้น
2. กรณีที่ชาวต่างชาติได้เข้ามาตีสนิทกับผู้เสียหายผ่านทางสื่อออนไลน์ หลังจากนั้นชาวต่างชาติรายดังกล่าวจะแจ้งว่าได้ส่งของขวัญหรือของมีค่าต่างๆ มาให้ผู้เสียหาย และให้รอรับการติดต่อจากบริษัทขนส่งสินค้า จากนั้นไม่นานก็จะได้รับการติดต่อจากบริษัทขนส่งสินค้า ทาง e-mail และโทรศัพท์ โดยให้โอนเงินจำนวนมากไปยังบริษัทขนส่งสินค้าในต่างประเทศ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและค่าภาษีอากร แต่เมื่อผู้เสียหายส่งเงินไปให้แล้ว ปรากฏว่าไม่ได้รับของดังกล่าวแต่อย่างใด กรมศุลกากรจึงขอให้ท่านตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ใจก่อนการโอนเงิน
3. กรณีบุคคลแอบอ้างเอกสารใบรับรองที่มีการลงนามโดย นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดี กรมศุลกากรให้แก่ภาคเอกชน ซึ่งได้นำเอกสารดังกล่าวมายื่นสอบถาม ณ ด่านศุลกากรหนองคาย จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร พบว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมและจัดทำขึ้นด้วยเจตนาไม่สุจริต เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและกรมศุลกากร ทางด่านศุลกากรหนองคายจึงได้มีการแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายแล้ว กรมศุลกากรจึงแจ้งเตือนให้ทราบโดยทั่วกัน
4. กรณีการลงเว็บไซต์ประกาศขายสินค้าราคาถูกโดยอ้างว่าเป็นสินค้าจากกรมศุลกากร และให้โอนเงินมัดจำหรือนัดให้ไปชำระเงินส่วนที่เหลือเพื่อรับสินค้า ด้วยวิธีการต่างๆ ที่ไม่ถูกต้อง กรมศุลกากรขอยืนยันว่า การจำหน่ายสินค้าของกลางกรมศุลกากรโดยวิธีที่ถูกต้อง จะเป็นการลงประกาศขายทอดตลาดอย่างเป็นทางการเพียงวิธีเดียว และจะรับชำระเงิน ณ ที่ทำการศุลกากร โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรเท่านั้น ไม่มีการบอกขายทางระบบอินเตอร์เน็ต หรือผ่านบุคคลที่แอบอ้าง และไม่มีการให้โอนเงินค่าสินค้า หรือโอนเงินมัดจำเข้าบัญชีผู้ใดทั้งสิ้น
ทั้งนี้ท่านหากมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับการดำเนินการใดๆ ทางกรมศุลกากร สามารถติดต่อสอบถามตามช่องทางต่างๆ ดังนี้
1. สอบถามข้อมูลทางศุลกากรได้ที่Customs Call Center 1164 หรือทาง e-mail : 1164@customs.go.th
ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารกรมศุลกากร ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา กรมศุลกากร
แจ้งปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบ ได้ที่กลุ่มคุ้มครองส่งเสริมจริยธรรม หมายเลข 1332 โทรศัพท์ : 0-2667-7432,0-2667-6891,0-2667-6889 และ e-mail : ctc@customs.go.th
แจ้งเบาะแสการลักลอบหลีกเลี่ยงหนีศุลกากร ได้ที่สำนักสืบสวนและปราบปราม (สสป.) โทรศัพท์ : 0-2667-6741-5 โทรสาร : 0-2667-6955,0-2667-6966 หรือ 83000000@customs.go.th
ติดต่อด้วยตนเอง ณ สำนักงานหรือด่านศุลกากรใกล้บ้านท่าน ในวันและเวลาราชการ