กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ
ปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รำลึกวันทรงราชย์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยจับมือบูรณาการแก้ปัญหาของประเทศอย่างใกล้ชิด เป็นเอกภาพ ยึดแนวพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนให้ดีขึ้น เริ่มนำร่องใน 10 จังหวัด รวม 42 โครงการครอบคลุมทั้งเรื่องน้ำและส่งเสริมอาชีพ
ดุสิตธานี – มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ได้จัดโครงการ "สานต่อ งานพ่อสอน" ขึ้น โดยมีหม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมเสวนาในหัวข้อ "มิติใหม่การบูรณาการสืบสานแนวพระราชดำริ" ท่ามกลางนักธุรกิจและข้าราชการที่เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
การเสวนาครั้งนี้สืบเนื่องมาจากวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 5 หน่วยงานดังกล่าวได้ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจในอันที่จะทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ ตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเน้นความสามัคคีเพื่อช่วยเหลือประชาชนในการพัฒนา โดยยึดหลักความต้องการของแต่ละพื้นที่หรือยึดภูมิสังคม
หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา กล่าวว่า "สานต่อ งานพ่อสอน" มีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงของการปฏิรูปประเทศ เนื่องจากไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้อยการศึกษา และประชาชนในภาคเกษตรถดถอยมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาให้รวดเร็วหากไม่เร่งช่วยเหลือ
อย่างไรก็ดี การพัฒนาที่ได้ผลควรศึกษาแนวทางพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นแนวทางที่นานาชาติให้การยอมรับ องค์การสหประชาชาตินำไปศึกษาเพื่อปรับใช้ทั่วโลก เพราะการพัฒนาในทางทุนนิยมได้พิสูจน์แล้วว่าทำให้หลายประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤติ
"จุดเริ่มต้นที่ควรจะทำได้ก่อนคือการหันมาบูรณาการทำงานร่วมกัน เพราะกระทรวงต่างๆมีบุคลากรที่ดี มีงบประมาณ แต่เมื่อต่างคนต่างทำ ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข ชาวบ้านก็ยังเดือดร้อนอยู่ นี่ก็เป็นพระราชดำรัสพื้นฐานคือสามัคคี ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม"
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า หลังจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจแล้ว กระทรวงฯ ได้พิจารณาเลือกจังหวัดต่างๆ ขึ้นมา 10 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบการทำงานร่วมกัน โดยพิจารณาจากความพร้อมในพื้นที่ ทั้งจากภาคราชการและประชาชนที่จะร่วมกันขับเคลื่อนงาน ประกอบด้วย จังหวัดแพร่ ตาก ชัยภูมิ นครราชสีมา สกลนคร ศรีษะเกษ ร้อยเอ็ด ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และพัทลุง ซึ่งมีทุกกระทรวงและสำนักนายกรัฐมนตรีให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี
ผลของการบูรณาการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการตามหลักการที่กำหนดเป็นไปด้วยดี สามารถจัดทำโครงการ/กิจกรรมเพื่อการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามแนวพระราชดำริ ใน 10 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 42 โครงการ งบประมาณ 21,133,413 บาท จำแนกเป็นโครงการ/กิจกรรมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ 38 โครงการ งบประมาณ 20,101,363 บาท โครงการพัฒนาด้านอาชีพต่อยอดโดยเฉพาะด้านการเกษตร 4 โครงการ งบประมาณ 1,032,050 บาท
"พวกเรานำเอาหลักการทรงงานมาประยุกต์ โดยให้ประชาชนในพื้นที่เป็นผู้เสนอปัญหาและแนวทางแก้ไข โดยราชการเข้าไปเป็นเพียงพี่เลี้ยง ส่วนงบประมาณที่จัดสรรนั้นเป็นเพียงบางส่วน และประชาชนต้องเข้ามาร่วมด้วย เช่น เอาแรงงานมาลง ไม่มีการจ้างเหมา เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของที่แท้จริง"
ท้ายที่สุดมีข้อสรุปร่วมกันว่าทุกหน่วยงานจะดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ที่จะทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามเป้าหมายแห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำหลักการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามแนวพระราชดำริมาเป็นแนวทาง
นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับนโยบาย ดังปรากฎอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์การบูรณาการการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และวางระบบการสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามแนวพระราชดำริ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ในวันเดียวกันได้มีการจัด "ตลาดนัดความดี" เพื่อเปิดให้ชุมชนและนักธุรกิจได้มาพบและปรึกษาหารือกัน แสวงหาแนวทางที่จะร่วมมือกันพัฒนาชุมชนต่อไปในอนาคต โดยคัดเลือกโครงการจากชุมชนและสถาบันการศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วม และมีนักธุรกิจจากสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคม The Boss และบริษัทเอกชนที่สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก