กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--อพวช.
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Museum - ITM) ภายใต้การดูแลของ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงาน "เปิดบ้านสารสนเทศ" (Open House ITM) เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับสังคม พร้อมเพิ่มเติมทักษะในการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ รอบตัวเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยรวบรวมนิทรรศการ กิจกรรมยอดนิยม พร้อมเปิดเสวนาเกี่ยวกับการรวบรวมคอลเลคชั่นไอที 4 หัวข้อ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์และสะสมด้านไอทีอย่างมีหลักการ พิเศษเยาวชนและนักศึกษาร่วมกิจกรรมฟรี ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน – 23 กรกฏาคม 2560 ณ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติกล่าวว่า "ปัจจุบันเทคโนโลยสารสนเทศ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเรามากขึ้น จนกลายเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา เช่น การดูโทรทัศน์เพื่อรับทราบข่าวสารและความบันเทิง รวมไปถึงการใช้การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เนตในการสื่อสาร ในการทำงาน จองตั๋วเครื่องบิน เบิกถอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม เป็นต้น ดังนั้น เราควรรู้เท่าทันเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการสร้างค่านิยมที่ถูกและตระหนักรับรู้ถึงความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อการดำเนินชีวิตมนุษย์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน"
อพวช. โดยพิพิธภัณฑ์เทคโลยีสารสนเทศ จึงจัดกิจกรรมเปิดบ้านสารสนเทศ (Open House ITM) เพื่อเผยแพร่ข้อมูลองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสานสนเทศ ผ่านนิทรรศการเทคโนโลยีสารสนเทศที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ เน้นการเรียนรู้แบบ Interactive ที่ผู้ชมได้มีส่วนร่วม โดยแบ่งออกเป็น 7 โซน ได้แก่ โซนการสื่อสารยุคโบราณ โซนการสื่อสารยุคใหม่ โซนการคำนวณ โซนคอมพิวเตอร์ และ IT Application นิทรรศการมหัศจรรย์แสงแห่งไอที สนุกกับการเล่นชิ้นงาน Laser Maze พร้อมเรียนรู้เรื่องราวของเทคโนโลยีแสงที่มีความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านไอทีกับชิ้นงาน และนิทรรศการ Inside Communication นิทรรศการชั่วคราวชุดแรกก่อนเปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้เรื่องหลักการต่าง ๆ ของการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีการจัดซุ้มกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่ได้รับความนิยมจากผู้เข้าชมอีกกว่า 12 ซุ้มกิจกรรม ประกอบด้วย ลานกิจกรรมสารสนเทศ กิจกรรมที่ได้ลงมือทำชิ้นงานและของเล่นไอทีอย่างง่าย ๆ ในเวลาสั้น ๆ กิจกรรม Silk Screen ทำมือ ศึกษาประวัติความเป็นมาของงานสกรีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวิวัฒนาการเทคโนโลยีการพิมพ์ตั้งแต่อดีตมา และเรียนรู้กระบวนการสกรีนผ้าด้วยการลงมือทำเอง กิจกรรม Math Maker กิจกรรมประดิษฐ์ชิ้นงานนวัตกรรมทางคณิตศาสตร์หรือของเล่นทางคณิตศาสตร์ที่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันด้วยตนเอง โดยใช้แนวคิดทางคณิตศาสตร์ผสมกับจินตนาการ และการบูรณาการองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ อย่าง STEM มาเป็นหลักการสำคัญในการประดิษฐ์ชิ้นงานหรือของเล่นนั้น ๆ กิจกรรม Lab IT ตอน Film Lab (เก็บแสงลงกระดาษ) เรียนรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพเบื้องต้น และสัมผัสกับกระบวนการสร้างภาพ จากกล้องประเภทต่างๆ และทดลองอัดภาพในห้องมืด กิจกรรม นักสร้างเรื่องตัวน้อย (The Story by Stop Motion) เรียนรู้การออกแบบและกระบวนการสร้าง Media ในรูปแบบของ Animation ด้วย Stop Motion ที่กำลังนิยมกันมากในปัจจุบัน โดยการลงมือทำจริงกับอุปกรณ์จริง กิจกรรม IT Workshop พัฒนาระบบการคิดอย่างมีระบบ และฝึกการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาอย่างสนุก กิจกรรม สุดยอดหุ่นยนต์ขนของ Relay Robot รู้จักกับโครงสร้างและกลไกลในการควบคุมของหุ่นยนต์ขนของแบบบังคับมือ พร้อมทั้งลงมือออกแบบ สร้างมือจับให้กับหุ่นยนต์เพื่อเอาชนะภารกิจขนของที่แสนท้าทาย กิจกรรม IT Retro ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้ถ่ายภาพร่วมกับวัตถุตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีความสำคัญของประเทศไทย พร้อมทั้งเรียนรู้เรื่องราว ที่มา และเรื่องเล่าที่น่าสนใจของวัสดุตัวอย่างด้านไอที กิจกรรมเช็คอิน กับ คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของประเทศไทย เรียนรู้กระบวนการทำงานของคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นวัสดุตัวอย่างที่ทรงคุณค่าและมีเรื่องราวที่น่าสนใจ กิจกรรม แชะ แชร์ ไอที กิจกรรมกดเช็คอินแลกรับของรางวัลที่ระลึก พร้อมทั้งแชร์เรื่องราวข้อมูลข่าวสารด้านไอทีผ่านสื่อออนไลน์ได้อย่างสร้างสรรค์ กิจกรรม IT Learning Program for Schoolกิจกรรมที่เน้นให้ครูสามารถเกิดมุมมองต่อยอดใช้พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสื่อการเรียนการสอนให้กับนักเรียนด้านไอทีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกิจกรรมเปิดชมห้องสตูดิโอ เยาวชนจะได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับกระบวนการผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์ ด้วยการทดลองและสัมผัสกับอุปกรณ์จริง ตามกระบวนการเรียนรู้แบบ Learning by doing โดยเปิดบริการนำชม 2 รอบต่อวัน
พิเศษกับการจัดเสวนาเกี่ยวกับการสะสมอนุรักษ์ Collection ด้านไอที โดย อพวช. ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ถึง 4 ท่าน กับการเสวนาถึง 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ วันพุธที่ 21 มิถุนายน 2560 หัวข้อ "ของสะสมมีเรื่องราว ไอทีมีเรื่องเล่า ครั้งที่ 1"โดย อาจารย์อเนก นาวิกมูล นักวิชาการ นักเขียนสารคดี และผู้ก่อตั้งบ้านพิพิธภัณฑ์ ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราววิวัฒนาการเทคโนโลยีสารสนเทศ และเรียนรู้รากฐานของเทคโนโลยีต้นแบบก่อนเข้าสู่ยุคดิจิตอลในปัจจุบัน พร้อมกับสร้างแรงบันดาลใจ และคุณค่าในการเก็บสะสมของเก่าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ วันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม 2560 หัวข้อ "การเป็นนักอนุรักษ์ที่ดี ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ตอน หมอกระดาษ"โดย คุณพวงพร ศรีสมบูรณ์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กรมศิลปากร พบกับ "หมอกระดาษ" ที่จะมาเผยวิธีการรักษา ซ่อมแซม คงคุณค่าทรัพยากรสารสนเทศวัสดุประเภทกระดาษ โดยใช้วิธีทางพิพิธภัณฑสถานวิทยาโบราณคดีและวิทยาศาสตร์ เพื่อเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมเป็นนักอนุรักษ์ที่ดี วันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม 2560 "การเป็นนักอนุรักษ์ที่ดี ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ตอน ฟิล์ม" โดย คุณพวงพร ศรีสมบูรณ์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กรมศิลปากร เรียนรู้การดูแล รักษา ทรัพยากรสารสนเทศวัสดุประเภท"ฟิล์ม" ด้วย กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมเป็นนักอนุรักษ์ที่ดี และวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม 2560 หัวข้อ "ของสะสมมีเรื่องราว ไอทีมีเรื่องเล่า ครั้งที่ ๒" โดย คุณสุพจน์ ทางเณร นักสะสมของเก่า พบกับนักสะสมแผ่นเสียง ที่จะเผยแรงบันดาลใจ ในการเป็นนักสะสมของเก่า และเรียนรู้เรื่องราววิวัฒนาการแผ่นเสียงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีกิจกรรมเสริมศึกษา สำหรับสร้างสีสัน ภายในงานที่จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาสร้างความบันเทิงตลอดทั้งวันกับกิจกรรมเวทีกลาง และเอาใจคนรักหนังกับห้องฉายภาพยนตร์และรายการวิทยาศาสตร์ด้านไอที โดยทุกกิจกรรม อพวช. เปิดให้เยาวชนและนักศึกษาร่วมกิจกรรมฟรี ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน – 23 กรกฏาคม 2560 ณ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี สอบถามข้อมูลโทร. 0 2577 9999 ต่อ 2122, 2123 หรือ www.nsm.or.th