กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรฐกิจดิจิทัล ส่งเทียบเชิญกลุ่มธุรกิจดิจิทัลสตาร์ทอัพ และเครือข่ายคนรุ่นใหม่ มาร่วมกันแชร์ไอเดียและข้อเสนอแนะ เพื่อหามาตรการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพ โดยเลือกพบปะกันในบรรยากาศสบาย ๆ มุ่งเป้าไอเดียไหลลื่น เชื่อมร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม
ในการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ยุค Thailand 4.0 หลายฝ่ายมีการพูดถึงการส่งเสริมกลุ่มธุรกิจใหม่ หรือกลุ่มสตาร์ทอัพกันอย่างกว้างขวาง ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ดิจิทัลสตาร์ตอัพจะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประเทศด้วยการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งในด้านดิจิทัลเทคโนโลยี และนวัตกรรมรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business model) มาสอดแทรกและเชื่อมโยงในภาคเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงดิจิทัลฯ ในฐานะที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลและการเปลี่ยนผ่านประเทศด้วยดิจิทัล จึงเร่งหาแนวทางและมาตรการส่งเสริมสตาร์ทอัพอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นว่า ต้องส่งเสริมให้ตรงจุด
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุมหารือร่วมกับกลุ่มเครือข่ายสตาร์ทอัพ ว่า การพบปะกันครั้งนี้ เชิญกลุ่มสตาร์ทอัพคนรุ่นใหม่ และเครือข่ายในอีโคซิสเต็มของสตาร์ทอัพมาคุยกัน เปิดเวทีให้น้อง ๆ ได้เสนอแนะเต็มที่ ซึ่งมีประเด็นหลัก ๆ จากกลุ่ม เช่น การส่งเสริมการตลาดให้กลุ่มสตาร์ทอัพของไทย และการสนับสนุนให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศ ซึ่งแนวทางการสร้างความเข้มแข็งและแข็งแกร่งให้สตาร์ทอัพไทยนั้น รัฐบาลมุ่งเน้นที่จะทำให้เกิดการแบ่งปันทักษะด้านดิจิทัลระดับสูง (Professional skill) ซึ่งสตาร์ทอัพไทยยังต้องการการพัฒนาในทักษะเฉพาะด้านอีกหลายอย่าง อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ การคิดเชิงธุรกิจระดับโลก และจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะเชื่อมโยงกับสตาร์ทอัพทั่วโลก เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมความคิดใหม่ ซึ่งทางรัฐบาลเองก็เป็นตัวแทนสตาร์ทอัพไทยในการสร้างโอกาสและความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำทั่วโลก
นอกจากนี้ กลุ่มยังสอบถามถึงส่งเสริมที่ให้สตาร์ทอัพไทยมีความเข็มแข็งและสามารถเติบโตได้ในเชิงธุรกิจ ดร.พิเชฐ กล่าวในประเด็นนี้ว่า รัฐบาลได้วางมาตรการส่งเสริมสำหรับสตาร์ทอัพไว้ในหลายด้าน เช่น การส่งเสริมด้านการลงทุน โดยประสานกับบีโอไอ และ กรมสรรพากร เพื่อออกสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมกับธุรกิจสตาร์ทอัพ การสนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับสตาร์ทอัพรายใหม่ที่ต้องการเงินทุนเพื่อการพัฒนาผลงาน การสร้างโอกาสการนำเสนอนวัตกรรมให้กับกลุ่มนักลงทุน หรือ VC ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาตรการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทักษะด้านต่าง ๆ ให้เพียงพอและตรงตามความต้องการของสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโตและต้องการขยายธุรกิจ รวมถึงการจัดสรรพื้นที่ EEC ที่จะกลายเป็นต้นกำเนิดสตาร์ทอัพใหม่ เต็มไปด้วยระบบนิเวศสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยได้มีการจัดตั้งพื้นที่ Digital Park ให้เป็นศูนย์เทคโนโลยีระดับ High-end
มีผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ จากทุกมุมโลก เป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างนวัตกรรมได้อย่างเสรี มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง พร้อมมาตรการส่งเสริมพิเศษต่าง ๆ สำหรับเอกชนที่มาลงทุนในพื้นที่โซนนี้ด้วย ซึ่งการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสตาร์ทอัพนั้น กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA เป็นหน่วยงานหลักในการลงแรงดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมต่อไป