กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--กรมวิทยาศาสตร์บริการ
(วศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) โดย สำนักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ จัดพิธีมอบใบรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการ ให้กับห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบของประเทศ ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 โดยมี ดร.สุทธิเวช ต.แสงจันทร์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบหนังสือรับรองห้องปฏิบัติการ พร้อมด้วยนางอุมาพร สุขม่วง รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ และคณะผู้บริหารร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งห้องปฏิบัติการที่ได้การรับรองความสามารถมีจำนวน 13 หน่วยงาน และผู้จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการจำนวน 3 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 ณ ห้องประชุมวิทยวิถี ชั้น 6 อาคารตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการได้ให้การบริการเรื่องการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการมาตรฐานแห่งชาติ (คมช.) ที่ต้องการให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นหนึ่งในหน่วยงานรับรองระบบงานของประเทศไทย ทั้งหมด 1 ใน 4 หน่วย ที่จะผลักดันให้การพัฒนาเรื่องระบบการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ทางกรมก็ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะมีการรับรองระบบงานไม่น้อยกว่า 115 ห้องปฏิบัติการ
การให้การรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างคุณภาพ (Quality) เนื่องจากการได้รับการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการทดสอบตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ถือเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพ และความสามารถการดำเนินงานทดสอบของห้องปฏิบัติการ จัดเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบ (Testing) ที่อยู่ภายใต้ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ MSTQ เป็นระบบที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เป็นที่รู้จัก และเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของห้องปฏิบัติการ ส่งผลให้เกิดความมั่นใจในผลการทดสอบที่เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและสากล สร้างความพร้อมในการแข่งขันบนเวทีการค้าโลก และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์บริการพยายามผลักดันให้เกิด MSTQ ทั้งในส่วนของ T และ Q เพื่อตอบโจทย์ตลาดโลก ส่งผลให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เป็นการอำนวยความสะดวกในการค้าขายระหว่างประเทศ และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวม
ห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับหนังสือรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการจำนวน 13 ห้องปฏิบัติการ และผู้จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการจำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่
1. ห้องปฏิบัติการ บริษัท เพอร์เฟค คอมพาเนียน กรุ๊ป จำกัด
2. ห้องปฏิบัติการทดสอบ บริษัท เอราวัณเคมีเกษตร จำกัด
3. ห้องปฏิบัติการลำพูน บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด
4. ห้องปฏิบัติการ บีพี บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด
5. ห้องปฏิบัติการ ธารเกษม บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด
6. ห้องปฏิบัติการยูโนเคมกรุ๊ป บริษัท ยูโนเคม จำกัด
7. ห้องปฏิบัติการ บริษัท ลิควิด เพียวริฟิเกชั่น เอ็นจิเนียรริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
8. ห้องปฏิบัติการ บริษัท ไอเอ็มซี (ไทย) จำกัด
9. ห้องปฏิบัติการปักธงชัย นครราชสีมา บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน
10. ห้องปฏิบัติการโคกกรวด นครราชสีมา บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน
11. ห้องปฏิบัติการศรีราชา บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน
12. National Institute of Hygiene and Epidemiology, Vietnam
13.HIV External Quality Assurance, Pasteur Institute of Ho Chi Minh City, Vietnam
14. Quality Control Center for Medical Laboratory, Hanoi Medical University, Vietnam
15. ห้องปฏิบัติการขอนแก่น บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน
16. ห้องปฏิบัติการ บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ จำกัด
ผู้บริหารบริษัท เฟอร์เฟค คอมมาเนียนกรุ๊ป เป็นบริษัทผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงภายใต้แบรนด์ สมาร์ทฮาร์ต และมีโอ กล่าวว่า การที่ห้องปฏิบัติการได้รับใบรับรอง ISO 17025 เป็นมาตรฐานระดับสากล เพราะว่าผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นสินค้าเพื่อการส่งออกและจัดจำหน่ายในต่างประเทศ จึงทำให้ได้รับการรับรองห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับของผู้บริโภคหรือผู้นำเข้าในต่างประเทศ และพร้อมที่จะต่อยอดให้ครบกระบวนการของระบบมาตรฐาน ISO 17025 ซึ่งจะต้องการ การรับรอง เพื่อตรวจสอบมาตรฐาน ทั้งวัตถุดิบและสินค้าอาหารสำเร็จรูป ให้เป็นค่าที่ได้รับค่ารับรองตัวเอง และก็ได้รับความเชื่อมั่นจากทั้งผู้ค้าในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในพิธีมอบใบรับรองระบบห้องปฏิบัติการครั้งนี้จะเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบงานรับรองตามมาตรฐานสากล และจะทำให้เป็นส่วนสำคัญที่จะไปตอบสนองในเรื่องของการที่จะทำให้สินค้าไทยที่ผ่านการตรวจรับรองจากห้องปฏิบัติการ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ตามมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น และเชื่อได้ว่า ต่อไปอุตสาหกรรมอื่นๆที่ยังไม่ได้รับการรับรองในระบบงานจะต้องมีการพัฒนา และกรมวิทยาศาสตร์บริการก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยดูแล ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา รวมทั้งที่จะจัดอบรมที่จะเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อไป