กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์การวางระเบิดในกรุงเทพมหานคร โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่ อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,210 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 7 - 9 มิถุนายน 2560 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเหตุการณ์การวางระเบิดในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพมหานคร ทั้งหน้ากองสลากกินแบ่งรัฐบาลเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 หน้าโรงละครแห่งชาติเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 และการพบระเบิดบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินศูนย์วัฒนธรรม เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 รวมไปถึงการตรวจพบระเบิด 8 ลูก ในกล่องไปรษณีย์ที่ศูนย์บริการส่งสินค้าเคอรี่ เอ็กซ์เพรส สาขาบางเขน เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2560 เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับระเบิดในกรุงเทพมหานครเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเหตุการณ์การวางระเบิดในกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เมื่อยินข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์การวางระเบิดในกรุงเทพมหานครมีความรู้สึกตื่นตกใจ ร้อยละ 73.5 รองลงคือ ไม่ตื่นตกใจ ร้อยละ 19.1 และเฉยเฉย ร้อยละ 7.4 และเกิดความกลัวต่อเหตุการณ์การวางระเบิดในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 61.6 รองลงคือ ไม่กลัว ร้อยละ 25.1 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 13.3 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าเหตุการณ์การวางระเบิดในกรุงเทพมหานครเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมือง ร้อยละ 61.5 รองลงคือ ไม่เกี่ยวข้อง ร้อยละ 22.2 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 16.3 และคิดว่าผู้ที่ก่อเหตุการณ์การวางระเบิดในกรุงเทพมหานครหวังผลทางการเมือง ร้อยละ 56.8 รองลงคือ ไม่ใช่ ร้อยละ 25.8 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 17.4 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าเหตุการณ์การวางระเบิดในกรุงเทพมหานครมีผลต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทย ร้อยละ 64.6 รองลงคือ ไม่มีผล ร้อยละ 22.1 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 13.3 และคิดว่าเหตุการณ์การวางระเบิดในกรุงเทพมหานครมีผลต่อการเศรษฐกิจของประเทศไทย ร้อยละ 63.9 รองลงคือ ไม่มีผล ร้อยละ 22.7 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 13.4
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่ารัฐบาลสามารถป้องกันการเกิดเหตุการณ์การวางระเบิดในอนาคต ร้อยละ 50.5 รองลงคือ ไม่สามารถป้องกันได้ ร้อยละ 30.0 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 19.5
และคิดว่าเหตุการณ์การวางระเบิดในกรุงเทพมหานครจะเกิดขึ้นอีก ร้อยละ 45.3 รองลงคือ ไม่เกิดขึ้น ร้อยละ 30.4 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 24.3