กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
โรคพาร์กินสัน ส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ก็พบว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดอาการของโรคเร็วขึ้นได้ โรคนี้พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และพบได้ทั่วโลก อุบัติการณ์การเกิดของโรคนี้ในต่างประเทศพบประมาณ 1-5% ในผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี เฉพาะในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีผู้ป่วยโรคนี้มากถึง 1.5 ล้านคน สาเหตุของการเกิดโรคพาร์กินสันมีหลายปัจจัย ที่พบได้บ่อยคือ การสร้าง และ/หรือการทำหน้าที่ของสารสื่อประสาท (neurotransmitter) ที่มีชื่อว่าโดปามีน (dopamine) ลดลง ซึ่งโดปามีนนี้เป็นสารที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ การเรียนรู้ อารมณ์ รวมถึงการควบคุมการเคลื่อนไหว และการทำงานของกล้ามเนื้อ
โดยสาเหตุที่ทำให้การสร้างและ/หรือการทำหน้าที่ของสารสื่อประสาทโดปามีนลดลง ได้แก่ ความชราภาพหรือภาวะเสื่อมของสมองในผู้สูงอายุ การใช้ยากล่อมประสาทบางประเภทที่มีฤทธิ์กดการสร้างโดปามีนในผู้ป่วยจิตเวช หลอดเลือดในสมองอุดตัน สารพิษทำลายสมอง สมองขาดออกซิเจน อุบัติเหตุที่ทำให้ศีรษะถูกกระทบกระเทือน นอกจากนี้ยังพบว่าสภาพแวดล้อม และพันธุกรรมยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคได้
การรักษาอาการทางระบบประสาทส่วนกลางที่เกิดขึ้นจากโรคพาร์กินสัน เป็นการรักษาตามอาการ คือ การบรรเทาอาการของโรคที่เกิดขึ้น เช่น อาการเกร็ง สั่น เคลื่อนไหวช้า รวมถึงอาการทางจิต ได้แก่ ซึมเศร้า ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากการที่สารสื่อประสาทโดปามีนในสมองมีน้อยลง ไม่เพียงพอ หรือการทำงานเสื่อมลง โดยมีสาเหตุจากความชราของสมอง มีพืชสมุนไพรหลายชนิดที่มีผลในการช่วยให้การทำงานของสารโดปามีนในสมองดีขึ้น เนื่องจากพืชเหล่านั้นมีสารอัลคาลอยด์ที่มีคุณสมบัติคล้ายกับ monoamine oxidase inhibitors (MAOIs) ที่ทำหน้าที่ช่วยยับยั้งการทำลายสารสื่อประสาทโดปามีนในเซลล์สมอง จึงช่วยลดอาการผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหว
จากความจำเป็นและอุบัติการณ์ของโรคพาร์กินสันดังกล่าว สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร จึงได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาพืชสมุนไพรที่ไม่เป็นพิษ และมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการจากโรคพาร์กินสันในผู้สูงอายุ พบว่า สารสกัดจากกะทกรก สามารถเพิ่มระดับสารสื่อประสาท dopamine และลดระดับเอนไซม์ MAO-B ในสมองหนูทดลองได้อย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) เช่นเดียวกับ Sinemet ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคพาร์กินสัน จึงได้นำเอามาพัฒนาสูตรตำรับเป็นยาเม็ดเคลือบฟิล์มชนิดธรรมดา และให้ชื่อผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกะทกรกว่า "ParkinPas"
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ยังผ่านการศึกษาขั้นคลินิกในเรื่องของความปลอดภัยและประสิทธิผลต่อการบรรเทาอาการจากโรคพาร์กินสันในอาสาสมัครเปรียบเทียบกับยาหลอก โดยพบว่า "ParkinPas" ไม่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงในอาสาสมัคร และในส่วนของผลการรักษาอาการของโรคสนับสนุนว่าผลิตภัณฑ์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางด้าน mentation-behavior-mood, activity daily living (ADL), และ total scores ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สนใจรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ติดต่อได้ที่ สำนักจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม โทร. 0-2577-9436-38 หรือ Call center วว. โทร.0 2577 9300 ในวันและเวลาราชการ E-mail : marketing_tistr@tistr.or.th