กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ปัญหาน้ำท่วมกับนิสัยความมักง่ายของคนกรุงฯ" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 7 – 8 มิถุนายน 2560 กรณีศึกษาจากประชาชนที่มีภูมิลำเนาหรือพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสาเหตุ ของปัญหาน้ำท่วมและปัญหาการทิ้งขยะของคนกรุงฯ บางคน การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสาเหตุหลักของปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.92 ระบุว่า เกิดจากความมักง่ายของการทิ้งเศษขยะ เศษอาหาร สิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงบนพื้นถนน หรือท่อระบายน้ำ ทำให้อุดตันท่อ หรืออุโมงค์ระบายน้ำ รองลงมา ร้อยละ 11.92 ระบุว่า การบริหารจัดการการระบายน้ำของหน่วยงาน กทม. และพื้นที่ในเขตต่าง ๆ ร้อยละ 6.64 ระบุว่า ขาดการเตรียมความพร้อมในการรับมือน้ำท่วม เช่น การขุดลอกท่อ คูคลอง ร้อยละ 4.72 ระบุว่า การรุกล้ำเส้นทางการ ระบายน้ำ เช่น การปลูกที่พักอาศัยรุกล้ำคลอง ร้อยละ 4.24 ระบุว่า มีการทำลายหน้าดิน ขุดดิน ใช้น้ำใต้ดิน เช่น การขุดเจาะน้ำบาดาล โครงการ ขุดเจาะเพื่อสร้างที่พักอาศัย คอนโดมิเนียม อาคาร สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ทำให้ดินทรุดตัว ร้อยละ 4.08 ระบุว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นพื้นที่ต่ำ ติดกับทะเล ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง ร้อยละ 2.24 ระบุว่า เป็นภัยธรรมชาติที่คาดการณ์ได้ยาก บางครั้งมีปริมาณน้ำฝนที่ตกมากเกินไป ยากเกินที่จะรับมือในการระบายน้ำได้ทัน ร้อยละ 3.68 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ระบบการจัดวางผังเมือง ความหนาแน่นของบ้านเรือน อาคาร ที่พักอาศัยต่าง ๆ ที่ทิ้งขยะหรือท่อระบายน้ำมีไม่เพียงพอ ปัญหาภาวะโลกร้อน การตัดไม้ทำลายป่า ปัญหาการเมืองและการทุจริตคอร์รัปชัน และร้อยละ 0.56 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความจริงจังในการบังคับใช้กฎหมายลงโทษ จับ – ปรับ กับผู้ที่ชอบทิ้งขยะในที่สาธารณะหรือแม่น้ำ ลำคลอง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.60 ระบุว่า ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเลย รองลงมา ร้อยละ 24.24 ระบุว่า มีการบังคับใช้กฎหมายจริงจังค่อนข้างน้อย ร้อยละ 3.76 ระบุว่า มีการบังคับใช้กฎหมายจริงจังค่อนข้างมาก ร้อยละ 1.44 ระบุว่า มีการบังคับใช้กฎหมายจริงจังมากที่สุด ร้อยละ 1.44 ระบุว่า มีการบังคับใช้กฎหมายจริงจังบ้างไม่จริงจังบ้าง และร้อยละ 3.52 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนต้องการฝากบอกถึง คนบางคน ที่มักง่าย ชอบทิ้งเศษขยะ เศษอาหาร สิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงบนพื้นถนน หรือท่อระบายน้ำซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.32 ระบุว่า ควรช่วยกันร่วมมือกันแก้ไข มีจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ควรคิดก่อนทิ้ง คิดถึงส่วนรวม ไม่ควรมักง่ายหรือเห็นแก่ตัว โดยเริ่มจากที่ตัวเราเอง และปลูกฝังค่านิยมให้กับบุตรหลานด้วย รองลงมา ร้อยละ 29.92 ระบุว่า เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ไม่สมควรทำ ควรหยุด และเลิกนิสัยการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง หมั่นฝึกมีวินัยในการทิ้งขยะให้ลงถัง ควรช่วยกันรักษาความสะอาด ไม่ทำให้บ้านเมืองสกปรก ร้อยละ 4.00 ระบุว่า ควรมีความละอายแก่ใจ ให้คิดถึงใจเขาใจเรา คิดถึงหัวอกคนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบ้าง คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา ร้อยละ 3.68 ระบุว่า ควรถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย (ทั้งการจับและปรับ) ให้เข็ดหลาบ เพื่อจะได้เป็นตัวอย่าง เกิดความสำนึกและไม่กระทำอีก ตลอดจนเจ้าหน้าที่ควรลงพื้นที่กวดขันการทิ้งขยะด้วย ร้อยละ 3.68 ระบุว่า บางครั้งการทิ้งขยะตามที่สาธารณะ เกิดจากความไม่ตั้งใจหรือจำเป็น ดังนั้นควรมีการบริหารจัดการขยะด้วย เช่น ควรมีป้ายแจ้งเตือน บอกจุดที่ทิ้งขยะ ควรจัดให้มีที่ทิ้งขยะอย่างเพียงพอ รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์การคัดแยกขยะ การนำขยะกลับมารีไซเคิล การใช้ถุงดำในกรณีที่ไม่มีถังขยะ และผลเสียของการทิ้งขยะไม่เป็นที่ ร้อยละ 1.60 ระบุว่า ไม่มีประโยชน์สำหรับบุคคลกลุ่มดังกล่าว เพราะอยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละบุคคล เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก และร้อยละ 20.80 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 53.12 มีภูมิลำเนาหรือพักอาศัยอยู่กรุงเทพฯ และตัวอย่างร้อยละ 46.88 มีภูมิลำเนาหรือพักอาศัยอยู่ปริมณฑล ร้อยละ 51.76 เป็นเพศชาย ร้อยละ 48.08 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.16 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 5.28 มีอายุ 18 – 25 ปี ตัวอย่าง ร้อยละ 14.96 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 21.52 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 34.24 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 22.72 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.28 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 93.44 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.28 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.84 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 1.44 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 27.76 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 65.36 สมรสแล้ว ร้อยละ 5.04 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.84 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 15.60 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 20.56 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.88 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 40.16 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 11.52 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.28 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 10.56 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 21.52 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 22.08 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 1.60 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 12.08 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 25.60 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.88 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.64 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 3.04 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 21.12 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 7.76 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 19.44 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 16.00 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 8.72 มีรายได้เฉลี่ย ต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 15.28 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.68 ไม่ระบุรายได้