กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้จัดงานแถลงข่าวและประกาศ "รางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง หรือ แม่น้ำโขงอวอร์ด (Mekong River Literature Award : MERLA)" ซึ่งเป็นรางวัลระดับนานาชาติสำหรับคนวรรณกรรมในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงโดยมีสมาชิกชาติต่าง ๆ ได้แก่ เวียดนาม ลาว กัมพูชา เมียนมา จีน (ยูนนาน) และไทย รางวัลนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีและมิตรภาพทางวรรณกรรมในภูมิภาคซึ่งเป็นไปตามแนวทางของการแลกเปลี่ยนความร่วมมือ และการหารือระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์รวมของสมาคมนักเขียนทุกประเทศในลุ่มน้ำโขงอีกด้วย ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่ "ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน" โดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
โดยนักเขียนชาวไทย 2 ท่านที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติในปีนี้ คือ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ นักเขียนและกวีชื่อดัง จากผลงานสร้างสรรค์ประเภทร้อยกรอง (poetry)และ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง นักเขียนสารคดีมือทองจากผลงานสร้างสรรค์ประเภทร้อยแก้ว (prose)
นางกนกวลี กันไทยราษฎร์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า "รางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง หรือ แม่น้ำโขงอวอร์ด (Mekong River Literature Award : MERLA)" เป็นรางวัลระดับนานาชาติสำหรับคนวรรณกรรมในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง จัดขึ้น โดยกองทุนวรรณกรรมลุ่มน้ำโขง เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยความริเริ่มของสมาคมนักเขียนแห่งเวียดนาม มีสมาชิกประกอบด้วย 6 ประเทศคือ เวียดนามลาว กัมพูชา เมียนมา จีน (ยูนนาน) และไทย โดยรางวัลดังกล่าวได้ยกย่อง ให้เกียรติ และส่งเสริมความรู้ ความสามารถของนักเขียน ซึ่งแสดงออกถึงอัตลักษณ์ประจำชาติ ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างนักเขียนใน ภูมิภาค เพื่อส่งเสริมสันติภาพ ความปรารถนาดี มิตรภาพ และพัฒนาการทางวัฒนธรรมของภูมิภาคและของโลก โดยยึดมั่นในหลักการมนุษยธรรม รางวัลดังกล่าวมีการมอบรางวัลเป็นประจำทุกปี ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานในปีนี้เป็นครั้งแรก
"หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัล ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้พิจารณาร่วมกันในทั้ง 6ประเทศ คือนักเขียนต้องทำงานวรรณกรรมที่มีคุณค่าทางศิลปะ ให้เกียรติแก่มนุษยชาติ มีความรักความศรัทธาในการเชื่อมโยงวัฒนธรรมชุมชนกับโลก โดยปีนี้นั้น ในส่วนของประเทศไทย คณะกรรมการมีความคิดเห็นตรงกันในการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลทั้ง 2 ประเภท คือร้อยแก้วและร้อยกรอง โดยงานของ "คุณวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง" ซึ่งเป็นงานประเภทร้อยแก้วนั้น เป็นสารคดีที่บอกเล่าถึงวิถีชีวิตของผู้คนทั้งชุมชนคนต้นแบบ คนชายขอบ ชาติพันธุ์ คนพิการ คนด้อยโอกาส ทั่วทั้งสังคมของประเทศ อันสะท้อนถึงความจริง ความดีงาม ที่ช่วยสร้างสรรค์ให้เกิดพลังและแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงแก่นแห่งศักดิ์ศรีของมนุษย์ ขณะที่ผลงานของ "คุณเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์" นั้น มีการผสานระหว่างน้ำคำและอารมณ์ที่น่าประทับใจ พลังแห่งงานที่ถูกกลั่นกรองออกมาคือเนื้อหาที่แยบยลอย่างเต็มไปด้วยคุณค่าทางศิลปะที่รุกเร้า แต่อ่อนโยนสู่การรับรู้ นับเป็นวิถีธรรมในความหมายของการประพันธ์" นางกนกวลีกล่าว
นางกนกวลีกล่าวอีกด้วยว่า หวังว่ารางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง หรือ แม่น้ำโขงอวอร์ด (Mekong River Literature Award : MERLA) นี้ จะช่วยกระตุ้นให้นักอ่านสนใจงานวรรณกรรมของประเทศเพื่อนบ้านที่ต่างก็จะสะท้อนภาพและเรื่องราวของแต่ละประเทศลุ่มแม่น้ำโขงผ่านงานวรรณกรรม และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาความร่วมมือ ความเข้าใจ และ มิตรภาพระหว่างประเทศอีกด้วย
"เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ สมาคมนักเขียนตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด และคิดว่าเรามีศักยภาพเพียงพอที่จะทำได้ โดยได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนคือ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มูลนิธิเอสซีจี (SCG FOUNDATION) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และจะมีพิธีมอบรางวัลทุกประเทศ ในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2560"
นายเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์กล่าวว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับคัดเลือกให้รับรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง ครับโดยเฉพาะในยุคสมัยที่งานเขียนถูกโดดเดี่ยวจากผู้อ่านหรือสังคมโดยรวม
"ผมมองว่างานวรรณกรรมก็คือการชำระประวัติศาสตร์กระแสหลัก ประวัติศาสตร์ที่บิดเบือน ประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดบาดแผลและความบาดหมางระหว่างประเทศร่วมภูมิภาค ดังนั้น รางวัลอาจทำให้เราสามารถเปลี่ยนแปรแก้ไขความผิดพลาดต่างๆนานาที่เกิดขึ้นในอดีตได้ และยังส่งเสียงสะท้อนไปถึงประเทศที่มีอำนาจเหนือกว่า ในกรณีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างเอาเปรียบ เช่น แม่น้ำ เป็นต้น"
นายวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง เปิดเผยว่า ยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลนี้ แม้จะตกใจบ้างก็ตามที เพราะปีก่อนหน้านั้น นักเขียนที่ได้รับส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ และอีกความรู้สึกคือขอบคุณสำหรับเกียรติที่มอบให้ เพราะงานเขียนแนวสารคดีที่ทำอยู่ ไม่ได้เป็นงานแนวกระแสที่มีคนอ่านกลุ่มใหญ่มากมาย แต่การที่มีคนมองเห็นทำให้รู้สึกถึงคุณค่าของผลงานว่ามีคนมองเห็นในเนื้องานที่ทำ
"รู้สึกว่าตัวเองยังทำงานน้อยอยู่มากเมื่อเปรียบเทียบกับนักเขียนท่านก่อนๆที่รับรางวัลมา ซึ่งหลายท่านก็เป็นไอดอลของผมจริงๆในช่วงเริ่มหัดเขียนหนังสือ ผมได้แบบอย่างจากบุคคลเหล่านี้ เป็นต้นทางของผมก็ว่าได้ จึงเป็นเกียรติและภาคภูมิอย่างยิ่งและเป็นเสมือนพันธะสัญญาว่าจะต้องทำงานเขียน ที่จรรโลงสังคมในภูมิภาคนี้ ทั้งในแง่สังคมและสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำสายนี้ต่อไป"
ในส่วนของนักเขียน 4 ประเทศที่ได้รับรางวัลมีดังต่อไปนี้
กัมพูชา ได้แก่ Dr. Khieu Kosal และ HE. Seang Chanheng
จีน (ยูนนาน) ได้แก่ Mrs. LIU Yuhong และ Mr. NA Zhangyuan
เมียนมา ได้แก่ Shwe Myanig Pyone lei Maw และ Dr.Khin Yu Swe
เวียดนาม ได้แก่ Ms. Huynh Kim Huong และ Mr. Ngo Minh Khoi
ส่วนประเทศลาวนั้น จะได้ประกาศพร้อมกันในพิธีมอบรางวัล ในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2560 ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยต่อไป