ILCT: การร่างสัญญา Information System Outsourcing(1)

ข่าวทั่วไป Thursday November 15, 2001 09:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล
โดยไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด
paiboona@mail.ilct.co.th
หนังสือพิมพ์ ไฟแนนเชียลไทม์ (Financial Times) ของประเทศอังกฤษ ฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2544 ระบุว่า ผลจากการก่อการร้ายของนาย บิน ลาเดน (Bin Laden) และพรรคพวกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศอังกฤษ ที่บริษัทต่างๆในประเทศอังกฤษผลประกอบการลดฮวบลงอย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะสายการบิน บริติชแอร์เวย์ (British Airway) ที่รัฐบาลอังกฤษต้องเข้าอุ้มเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ที่น่าสนใจเป็นอย่างมากและเป็นหัวข้อในการคุยกันในวันนี้คือ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของอังกฤษ คือ บริษัทบริติช เทเลคอม มิวนิเคชั่นหรือ บีที (BT- British Telecommunication) ที่ประกาศตัวว่าจะร่วมลงนามกับบริษัทซันซา (Xan sa) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการทำสัญญาย้ายภาคส่วนการบัญชีและการเงินพร้อมด้วยพนักงานของบีทีไปบริษัทซันซา หรือที่เรียกว่า การทำสัญญา Outsourcing Contract โดยข้อตกลงนี้จะลงนามประมาณปลายปีนี้ ซึ่งข้อตกลงในการทำ Outsourcing Contract ครั้งนี้มีมูลค่าถึง 200 ล้านปอนด์สเตอริง (หรือประมาณ 13000 ล้านบาท) สาเหตุที่บีทีทำสัญญา Outsourcing ย้ายฝ่ายการเงินและการบัญชีของตนก็เนื่องจากต้องการตัดค่าใช้จ่ายและลดหนี้ของบริษัทเพราะจะมีพนักงานของบีที ประมาณ 500 คนย้ายไปทำงานที่ซันซา ซึ่งซันซานั้นมีประสบการณ์ด้านการให้คำปรึกษาแก่บีทีด้านการเงินมาประมาณ 15 ปี ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ไฟแนเชียลไทม์ระบุว่า บีทีทำสัญญา Outsourcing โดยโอนสินทรัพย์ในต่างประเทศทั้งหมดเว้นแต่ในประเทศอังกฤษ ทำให้สามารถลดหนี้ของบริษัทตนได้จาก 30 พันล้านปอนด์สเตอริง เหลือแค่ 17.5 พันล้านปอนด์สเตอริง เท่านั้น มาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านที่เป็นผู้ประกอบการชาวไทย ทั้งหลายคงเริ่มสนใจแล้วใช่ไหมครับว่า สัญญา OutSourcing Contract นั้นเป็นอย่างไร และหากจะนำมาใช้กับกิจการของท่านต้องพิจารณาในเรื่องใดบ้างวันนี้เราจะมาคุยกันครับ
สัญญา Outsourcing Contract นั้นว่ากันง่ายๆ ก็คือ ข้อตกลงที่คู่สัญญาฝ่ายหนี่งต้องการโอนทรัพย์สิน หน้าที่ หรืองานบริการหรือพนักงานของบริษัทตนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไปให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลที่สามเพื่อวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจหลายประการ เช่น เพื่อต้องการลดปริมาณต้นทุนหรือหนี้ของบริษัท หรือต้องการเพิ่มศักยภาพในธุรกิจของตนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรืออาจต้องการผู้เชี่ยวชาญหรือชำนาญการเฉพาะด้านมาร่วมกันทำธุรกิจ เช่น บริษัท ก. เป็นบริษัทที่ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือ ISP (Internet Service provider) ต้องการจะเพิ่มศักยภาพและเสริมภาพพจน์บริษัทของตนให้ดีและมีลูกค้ามากขึ้น ก็ทำสัญญากับบริษัท ข. ที่เชี่ยวชาญเรื่องการดูแลคอมพิวเตอร์ซอพแวร์ ให้มาดูแลลูกค้าของตนโดยโอนงานของบริษัท ก. และลูกจ้างบางส่วนไปทำงานกับบริษัท ข. เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าของตน บริษัท ก. ก็สามารถดำเนินการร่วมกับบริษัท ข. เป็นผู้ให้บริการซอพแวร์หรือ ASP (Application Service Provider) ได้โดยลูกค้าของบริษัท ก. ก็จะได้ประโยชน์จากการร่วมทำธุรกิจดังกล่าวและบริษัท ก. ก็สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของตน หรือ อาจลดภาระภาษีได้ ดังนั้นการทำสัญญาดังกล่าวจึงมีประโยชน์มาก อย่างไรก็ตามวัตถุประสงค์ของการทำสัญญา Outsourcing Contract คงต้องขึ้นอยู่กับคู่สัญญาเป็นหลักครับว่าต้องการทำเพื่อประโยชน์ด้านใด
มาถึงจุดนี้ท่านผู้อ่านคงเริ่มเข้าใจถึงลักษณะของสัญญา Outsourcing Contract แล้วนะครับ สัญญา Outsourcing Contract ที่จะพูดถึงในวันนี้คือ สัญญา Information System Outsourcing Contract ครับ (โดยขอเรียกสั้นๆว่า สัญญา ISO ครับ) สัญญา ISO นั้นเริ่มเป็นที่แพร่หลายอย่างมากในประเทศอังกฤษเมื่อ ปี พ.ศ. 2532 เมื่อบริษัท อีสเทริน์โกดัก (Eastern Kodak) ร่วมกับบริษัท Integrated System Solutions Corporation หรือบริษัท ISS (บริษัทในเครือของ ไอบีเอ็ม) ร่วมกันทำสัญญา ISO โดยให้บริษัท ISS ดำเนินการดูแลเรื่องระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดของโกดัก โดยมีการโอนพนักงานของโกดักบางส่วนไปประมาณ 300 คน ทำให้โกดักลดปริมาณคนงานและได้ให้บริการทางคอมพิวเตอร์แก่ลูกค้าที่ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและมีผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมาก
การทำสัญญา ISO โดยส่วนใหญ่นั้น คู่สัญญาส่วนใหญ่จะเน้นการโอนเทคโนโลยีสารสนเทศไปให้แก่บุคคลภายนอกที่เชี่ยวชาญ งานที่นิยมทำการโอนไปให้แก่บุคคลภายนอกดำเนินการแทน ได้แก่
(1) งานศูนย์ข้อมูลด้านคอมพิวเตอร์
(2) งานเครือข่ายด้านข้อมูลและเสียง
(3) งานโทรคมนาคม
(4) งานพัฒนาด้านซอพแวร์
(5) งานดูแลรักษาซอพแวร์
(6) งานบริหารจัดการโครงการ
(7) งานบริหารจัดการด้านสัญญาและการจำหน่ายสินค้า
(8) งานด้านศูนย์บริการลูกค้า
(9) งานฝึกอบรมด้านเทคโนโลยี เป็นต้น
แนวโน้มของการทำสัญญา ISO ในธุรกิจอินเตอร์เน็ตนั้นมีแนวโน้มที่จะร่วมกันทำธุรกิจในรูปแบบของผู้ให้บริการ ASP มากขึ้น เพราะนอกจากให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่ลูกค้าแล้วยังสามารถให้บริการด้านซอพแวร์ที่ใช้บนอินเตอร์เน็ตได้ด้วย โดยสัญญา ISO อาจอยู่ในรูปแบบของสัญญาร่วมทุนหรือหุ้นส่วนก็ได้แล้วแต่คู่สัญญาจะตกลงกัน วันนี้เนื่องจากเนื้อที่ค่อนข้างจำกัด ในครั้งหน้าเราจะมาคุยถึงเนื้อหาของการร่างสัญญาว่า สัญญา ISO ที่ดี ควรระบุเรื่องใดบ้างและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อย่าลืมติดตามนะครับ--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ