กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในการแถลงข่าว สถานการณ์ท่องเที่ยวเดือนพฤษภาคม ปี 2560 ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทย และรายได้จากการท่องเที่ยวปัจจุบัน โดยมีสาระสำคัญดังนี้
สรุปสถานการณ์ท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พฤษภาคม 2560 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวน 2,590,533 คน ในจำนวนนี้ เป็นนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกมากที่สุด 1,889,287 คน รองลงมา ได้แก่ นักท่องเที่ยวภูมิภาคยุโรป เอเชียใต้ อเมริกา โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ตามลำดับ
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวขยายตัวร้อยละ 4.60 ตามการขยายตัวของนักท่องเที่ยวเกือบทุกภูมิภาค สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากที่สุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย จีน มาเลเซีย อินเดีย ลาว เกาหลี ญี่ปุ่น เวียนดนาม สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และกัมพูชา ตามลำดับ นอกจากนี้ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวดังกล่าวก่อให้เกิดรายได้ 125,425.39 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.91 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา สำหรับนักท่องเที่ยวที่สร้างรายได้สูงสุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย จีน มาเลเซีย อินเดีย รัสเซีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เกาหลี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ตามลำดับ
สรุปสถานการณ์ท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มกราคม - พฤษภาคม 2560 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งสิ้น 14,612,150 คน ขยายตัวร้อยละ 3.20 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นับจากเดือนมีนาคม และก่อให้เกิดรายได้รวม 747,071.65 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.07 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
สรุปสถานการณ์ท่องเที่ยวชาวไทยเที่ยวไทย มกราคม - เมษายน 2560 ในเดือนเมษายน มีชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศจำนวน 13.39 ล้านคน-ครั้ง ขยายตัวร้อยละ 3.22 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่
ผ่านมา และสร้างรายได้ 78,798.21 ล้านบาท นอกจากนี้ นับจากเดือนมกราคม ถึง เมษายน มีชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศรวม 45.14 ล้านคน-ครั้ง และก่อให้เกิดรายได้รวม 305,387.71 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.47 และ 5.78 ตามลำดับ จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
รายได้จากการท่องเที่ยวปัจจุบัน นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (พ.ค.) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก่อให้เกิดประโยชน์ในรูปของรายได้แก่ประเทศและกระจายรายได้ดังกล่าวสู่ภูมิภาคต่าง ๆ รวม 1.05 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.27 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ เป็นรายได้ที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ 7.47 แสนล้านบาท และการท่องเที่ยวภายในประเทศของชาวไทย 3.05 แสนล้านบาท
ส่วนผลกระทบทางการท่องเที่ยวจากการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตของกลุ่มชาติอาหรับต่อกาตาร์นั้น นักท่องเที่ยวกาตาร์มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4.4 ของนักท่องเที่ยวตะวันออกกลางทั้งหมดของไทย ปัญหาดังกล่าวภาคการท่องเที่ยวไทยไม่ได้รับผลกระทบทางตรง และสายการบินกาตาร์แอร์เวย์ยังบินสู่ไทยตามปกติ แต่นักท่องเที่ยวตะวันออกกลางและยุโรปของสายการบินนี้ อาจใช้ระยะเวลาการบินเพิ่มขึ้น
สำหรับทิศทางค่าเงินบาทที่ผ่านมา ค่าเงินบาทของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่เป็นตลาดท่องเที่ยวสำคัญ พบว่า มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ค่าเงินบาทต่อ เงินปอนด์ (แข็งค่า 14%) เงินริงกิต (แข็งค่า 8%) ยูโร (แข็งค่า 5%) และดอลลาร์สหรัฐ (แข็งค่า 2%) ซึ่งเป็นผลจากทั้งปัจจัยภายใน คือ การส่งออกของไทยที่ปรับตัวดีขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกในช่วงมกราคม - เมษายนที่ผ่านมา เท่ากับ 73,344 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.7 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (www.bot.or.th) และปัจจัยภายนอก เช่น Brexit ของอังกฤษ ภาวะเศรษฐกิจในมาเลเซีย ความไม่มั่นใจต่อการเมืองในสหรัฐ เป็นต้น หากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อระดับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว รวมถึงการตัดสินใจเดินทางมาประเทศไทย เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะไกลของนักท่องเที่ยวยุโรป และการแข่งขัน อย่างรุนแรงจากตุรกีและอียิปต์ นอกจากนี้ ค่าเงินรูเบิลรัสเซียต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเฉลี่ย 20% ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวรัสเซียขยายตัวถึงร้อยละ 31 และแม้ว่าค่าเงินรูเบิลจะมีแนวโน้มอ่อนค่า แต่คาดว่าจะแข็งค่าขึ้นอีกในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการท่องเที่ยวไทย (อ้างอิงจาก tradingeconomics.com)