ศงป. เผยผลงาน 8 เดือนมีผู้ใช้บริการกว่า 12,821 ราย ชี้ SME ค้าปลีก-ค้าส่ง ประสบปัญหาสูงสุด

ข่าวทั่วไป Wednesday June 28, 2000 13:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--ศงป.
ศงป. เผยผลการดำเนินงานในรอบ 8 เดือน มีผู้ใช้บริการปรึกษาด้านการเงินรวม 12,821 ราย จาก 25 ศูนย์ทั่วประเทศ ชี้ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ประสบปัญหาด้านการเงินสูงสุด รองลงมาคือ ภาคการผลิต การบริการ การก่อสร้าง และเกษตรกรรม
ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการนโยบาย ศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงิน สำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และประชาชน (ศงป.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการให้คำปรึกษาทางด้านการเงินแก่ธุรกิจ SME และประชาชนทั่วไปว่า ผลการดำเนินงานในรอบ 8 เดือน ของ ศงป. เป็นที่น่าพอใจ ตั้งแต่ต้นปี 2543 ได้ปรับกลยุทธ์การบริการให้คำปรึกษาแนะนำ โดยการเพิ่มศักยภาพของบุคลากร และการวิเคราะห์ปัญหาของผู้ใช้บริการ โดยนำมาประเมินแนวทางแก้ไขให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และปัญหาส่วนหนึ่งได้ประสานงานส่งให้กับหน่วยงานรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องแก้ไขตามกระบวนการของหน่วยงานนั้น ๆ ต่อไป
สรุปผลการดำเนินงานในรอบ 8 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2542 ถึง วันที่ 31 พฤษภาคม 2543 ปรากฎว่ามีผู้ใช้บริการทั้งหมด 12,821 ราย โดยให้คำปรึกษาแนะนำและติดตามผลจนจบให้คำปรึกษาได้ 8,322 ราย คิดเป็นร้อยละ 49 ของผู้มาใช้บริการทั้งหมด ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการติดตามต่อไป คิดเป็นวงเงินให้คำปรึกษารวม 17,972 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้สามารถประนอมหนี้ได้ 711 ล้านบาท และหาแหล่งเงินทุนได้ 1,734 ล้านบาท โดยผู้ใช้บริการที่ประสบปัญหาด้านประนอมหนี้ส่วนหนึ่ง ส่งให้ คปน. ช่วยเหลือจำนวน 143 ราย เป็นวงเงิน 2,677 ล้านบาท ซึ่งสามารถประนอมหนี้ได้ 68 ราย
ประธานคณะกรรมการนโยบาย ศงป. กล่าวต่อไปว่า จากการประเมินผลในช่วงที่ผ่านมา จำนวนรายกลุ่มผู้ใช้บริการที่ประสบปัญหาด้านการเงินส่วนใหญ่เป็น กลุ่มธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งมากที่สุด คิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ใช้บริการที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม หรือร้อยละ 33 ขณะที่วงเงินให้คำปรึกษาของกลุ่มนี้อยู่ในอันดับ 3 คือ ร้อยละ 18 ของวงเงินให้คำปรึกษาทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องจากมี ผู้ใช้บริการส่วนหนึ่งที่เป็นวิสาหกิจขนาดย่อมที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด แต่มีกิจการร้านค้าเล็ก ๆ ที่มีสินทรัพย์ถาวรและการจ้างงานไม่มากนัก รองลงมาคือ กลุ่มอุตสาห-กรรมการผลิต คิดเป็นร้อยละ 28 แต่มีวงเงินให้คำปรึกษาสูงสุดคือ ร้อยละ 29 อันดับสาม คือ กลุ่มธุรกิจบริการ คิดเป็นร้อยละ 18 อันดับสี่ คือ กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 10 และอันดับที่ห้า คือ กลุ่มธุรกิจเกษตรกรรม คิดเป็นร้อยละ 4
ส่วนผู้ใช้บริการที่มีปัญหาหนี้ NPL จากการประเมินและรวบรวมข้อมูล ปรากฎว่ามีจำนวนถึง 6,932 ราย ส่วนใหญ่เป็น NPL กับธนาคารกรุงเทพสูงสุด คือ ร้อยละ 16 ของจำนวนผู้ใช้บริการที่เป็น NPL รองลงมาคือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ร้อยละ 15 ธนาคารกรุงไทย ร้อยละ 14 และธนาคารกสิกรไทย ร้อยละ 13 โดยมีวงเงินที่มี NPL กับธนาคารกรุงไทยสูงสุดถึงร้อยละ 24 ของวงเงินปรึกษาที่เป็น NPL ทั้งหมดประมาณ 48,892 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่นับรวมส่วนที่ผู้ขอคำปรึกษามีเงินกู้กับสหกรณ์ต่างๆ และนายทุนนอกระบบที่มีจำนวนสูงถึง 1,116 ราย วงเงินประมาณ 12,524 ล้านบาท โดยผู้ขอคำปรึกษาบางราย มีหนี้ NPL มากกว่า 1 ธนาคาร
ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ กล่าวสรุปว่า จากผลการดำเนินงานของ ศงป. โดยรวมการขอคำปรึกษาส่วนใหญ่ยังคงปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุน และรองลงมาคือหนี้ NPL ซึ่งในระบบเศรษฐกิจของไทยถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่มีผลกระทบต่อความเข้มแข็งของระบบ และภาครัฐกำลังแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดย ศงป.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวแม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม ซึ่งภายในปี 2544 คาดว่าจะสามารถให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจ SME และประชาชนได้กว่า 50,000 ราย ทั่วประเทศ
ศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงินสำหรับ SME และประชาชน (ศงป.) บริการฟรี 25 ศูนย์ทั่วประเทศ--จบ--
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ