กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เสริมสร้างศักยภาพชุมชนให้สามารถรับมือและจัดการสาธารณภัยได้ด้วยตนเอง ภายใต้แนวคิด "การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน" ผ่านกลไกการเตรียมพร้อมรับมือและลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยในระดับชุมชน 3 ด้านหลัก โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการจัดการภัยพิบัติ การสนับสนุนการสร้างแนวทางการบริหารจัดการสาธารณภัยระดับชุมชน และการเสริมสร้างศักยภาพด้านการจัดการภัยพิบัติของชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีขีดความสามารถในการเตรียมพร้อมรับมือและจัดการภัยพิบัติอย่างเข้มแข็งครอบคลุมทุกพื้นที่และมีความปลอดภัยจากภัยพิบัติอย่างยั่งยืน
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยพิบัติของประเทศไทยมีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้น การบริหารจัดการสาธารณภัยผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือและจัดการสาธารณภัยในเบื้องต้นแก่ประชาชน ถือเป็นแนวทางสำคัญในการป้องกันและลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้มีความพร้อมในการจัดการสาธารณภัยอย่างเข้มแข็ง กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้มุ่งเสริมสร้างศักยภาพชุมชนให้สามารถรับมือและจัดการสาธารณภัยได้ด้วยตนเอง ภายใต้แนวคิด "การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน" (Community Based Disaster Risk Management : CBDRM)" ผ่านกลไกการเตรียมพร้อมรับมือและลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยระดับชุมชนใน 3 ด้านหลัก ดังนี้ 1) เสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการจัดการภัยพิบัติ ดำเนินการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแก่ผู้นำชุมชนและคนในชุมชน เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนตระหนักถึงสภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่ และเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการจัดการสาธารณภัย เนื่องจากคนในชุมชนรู้สภาพพื้นที่ความเสี่ยงภัย ทรัพยากร และศักยภาพในการรับมือภัยพิบัติของชุมชนเป็นอย่างดี ส่งผลให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือ กำหนดแนวทางป้องกันและจัดการภัยพิบัติของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยของพื้นที่ 2) สนับสนุนการสร้างแนวทางการบริหารจัดการสาธารณภัยระดับชุมชน มุ่งเน้นการวางกลไกขับเคลื่อนกิจกรรมลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในรูปแบบคณะกรรมการหมู่บ้าน โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลางในการวางแผน เตรียมพร้อมรับมือ ป้องกัน จัดการ บรรเทา และฟื้นฟูความเสียหายจากสาธารณภัย พร้อมส่งเสริมให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการภัยพิบัติ ตั้งแต่การคิด การวางแผน การเตรียมการป้องกัน การรับมือภัยพิบัติ การจัดการในภาวะฉุกเฉิน รวมถึงการฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ประสบภัย โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินการลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติ และ 3) เสริมสร้างศักยภาพด้านการจัดการภัยพิบัติของชุมชน โดยส่งเสริมให้ชุมชนจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับชุมชน ประกอบด้วย ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย แนวทางการแจ้งเตือนภัย ขั้นตอนการอพยพประชาชน เส้นทางอพยพหนีภัย พื้นที่ปลอดภัย เพื่อเป็นแนวทางการเตรียมพร้อม ป้องกัน ปฏิบัติการ ตอบโต้และจัดการภัยพิบัติของชุมชน รวมถึงจัดให้มีการฝึกซ้อมแผนระดับชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันและช่วยเหลือตนเองจากภัยพิบัติในเบื้องต้น
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า การเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติ ภายใต้แนวคิดการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน (CBDRM) นอกจากจะทำให้ชุมชนสามารถป้องกัน ลดผลกระทบและความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้ในระดับหนึ่งแล้ว ยังช่วยเหลือตัวเองและชุมชนใกล้เคียงได้ก่อนที่หน่วยงานภายนอกจะเข้าไปช่วยเหลือ จึงถือเป็นกลไกสำคัญที่ส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้และมีความพร้อมในการจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันมีชุมชนที่ผ่านการฝึกอบรมตามแนวคิดดังกล่าวแล้วจำนวน 12,548 ชุมชน ทั้งนี้ ปภ. ได้มุ่งส่งเสริมให้ชุมชนมีขีดความสามารถในการเตรียมพร้อมรับมือและจัดการภัยพิบัติอย่างเข้มแข็ง พร้อมขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนมีความปลอดภัยจากภัยพิบัติอย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากจะเป็นสร้างเครือข่ายด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับพื้นที่แล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล ภายใต้วาระ"ประเทศไทยปลอดภัย (Safety Thailand)"