กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
พื้นที่ 4 จังหวัดในกลุ่มภาคเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน มีผู้ประกอบการ SMEsและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกว่า 160,000 ราย โดยมีอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ 1. อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป 2. อุตสาหกรรมการเกษตร 3. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ 4. อุตสาหกรรมก่อสร้างและเซรามิก สร้างเม็ดเงินรวมกว่า 1.24 แสนล้านบาท ซึ่งในภาพรวมแม้จะทำรายได้ค่อนข้างมากแต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ยังจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมในด้านต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบแฟชั่น การออกแบบกราฟิก การออกแบบดิสเพลย์ และการจัดวางสินค้าให้น่าสนใจ ให้สามารถผลิตสินค้าได้สอบรับกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการสินค้าที่มีเอกลักษณ์ความหลากหลายและแปลกใหม่มากกว่าในอดีต
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมและการออกแบบ หรือ "IDEA HOUSE" ขึ้น ผ่าน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.กิจกรรมพัฒนานักออกแบบ เพื่อผู้ประกอบการ 2.กิจกรรมปลุกพลังสร้างสรรค์กระตุ้นคลังความคิด 3.กิจกรรมสนามประลองความคิดเพื่อสร้างนักคิดรุ่นใหม่ และ 4.กิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้นด้านการออกแบบ ซึ่งทุกกิจกรรมนอกจากจะได้รับคำแนะนำจากต้นแบบผู้ประกอบการที่ ประสบความสำเร็จในวงกว้างแล้ว ยังมีโอกาสได้เรียนรู้กระบวนการทำงานร่วมกับนักออกแบบชั้นนำของประเทศ ที่พร้อมใจถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและมูลค่าให้สินค้าขึ้นอีก 3 - 5 เท่า ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 5 – 10
ดวงฤทธิ์ บุญนาค สถาปนิกและนักออกแบบชั้นนำของไทย ถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์ทำงานอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นพื้นฐานและกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ ระบุว่าจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดในการสร้างสรรค์ผลงานและนวัตกรรมใหม่ๆ คือ "ลงมือทำ" แม้ว่าในตอนแรกเริ่มจะไม่มีองค์ความรู้หรือความเชี่ยวชาญมากนัก แต่ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่การพยายามมองหาหรือคิดให้สร้างสรรค์ เพราะหากโฟกัสการมองหาหรือคิดเพียงอย่างเดียวจะไม่มีทางเจอ ที่เป็นเช่นนี้เพราะหลายคนเข้าใจผิดว่า Creativity ซึ่งแปลเป็นไทยว่า "ความคิดสร้างสรรค์" ต้องอาศัยความรู้และสิ่งที่เป็นมาในอดีต เป็นตัวกำหนดความถูกต้องและความเป็นไปของอนานคต ซึ่งสองประเด็นนี้ถือเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ โดยจากประสบการณ์ที่ไปสอนหรือบรรยายตามสถานที่ต่างๆ พบว่าเด็กไทยมีความคิดที่ดีมากแต่เมื่อลงมือทำจริง ผลที่ออกมากลับไม่สมบูรณ์ 100% เพราะที่ผ่านมาเราสอนให้เด็กหยุดแค่เพียงความคิด ทว่าในทางสร้างสรรค์ไม่ว่าจะเรียนหรือเข้าอบรมมากแค่ไหน ไม่ใช่สิ่งที่การันตีได้ว่าผู้นั้นจะสามารถทำหรือสร้างสรรค์ได้ดีแค่ไหน
"ทุกคนมีความสร้างสรรค์และความครีเอทีฟอยู่ในตัว เพียงแต่ยังติดอยู่ในกรอบและมุมมองแบบเดิมๆ หลายครั้งที่มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ประกอบการหรือชาวบ้าน สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือทุกคนคิดว่าต้องมีความรู้ก่อนถึงจะสร้างหรือลงมือทำได้ ทั้งที่ตลอดระยะเวลาที่คุยกันความรู้นั้นออกมาจากปากตลอดเวลา จึงมีคำพูดที่ว่ายิ่งมีความรู้มากเท่าไหร่โอกาสค้นพบสิ่งใหม่ๆ ยิ่งน้อยลง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราปล่อยวางความรู้และความเชื่อเดิมๆ โดยไม่ยึดติดกับอดีต เมื่อนั้นจะทำให้เกิดช่วงเวลาแห่งการสร้างสรรค์"
สถาปนิกและนักออกแบบชั้นนำของไทย แนะนำว่าหัวใจสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ในการสร้างสรรค์หรือพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ คือต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า "มีอะไรบ้างที่เป็นไปได้ภายใต้บริบทที่มีอยู่รอบตัวเรา"
ได้แก่ 1. เงินทุน 2. วัสดุหรือวัตถุดิบ 3. ความชำนาญ 4. สภาพแวดล้อม และ 5. วัฒนธรรม เป็นต้น หากมีบริบทที่มากพอสิ่งใหม่ๆ จะผุดขึ้นมาเองโดยไม่ต้องพยายามค้นหา เช่นในอดีตเคยได้รับโจทย์ให้ออกแบบรีสอร์ทในพื้นที่ๆ มีความยากทางภูมิศาสตร์ หากยึดติดกับความเชื่อเดิมๆ และมองแต่ปัญหาจะไม่สามารถออกแบบได้เลย แต่เมื่อเอาบริบททั้งหลายมาจัดวางและลงมือทำในที่สุดก็เกิดเป็นไอเดีย และสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ทะลุผ่านข้อจำกัดต่างๆ ได้ หรือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของผู้ที่ประสบความสำเร็จในยุคปัจจุบัน คือ สตีฟ จอบส์ ผู้คิดค้นและผลิตไอโฟน ในตอนแรกเริ่มเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องทำอย่างไร แต่เมื่อลงมือทำโดยไม่ยึดติดกับความรู้และความเชื่อในอดีต ในที่สุดจึงเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ที่โด่งดังและประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้
ด้าน เอนก กุลทวีทรัพย์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Labrador เครื่องหนังดีไซน์เนี้ยบ ที่ปัจจุบันส่งออกขายกว่า 20 ประเทศทั่วโลก เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการก่อตั้งแบรนด์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้โดนใจลูกค้าว่า เริ่มต้นทำแบรนด์เครื่องหนังจากความชื่นชอบส่วนตัว จึงตัดสินใจก่อตั้งแบรนด์ Labrador ซึ่งในตอนแรกแม้จะไม่มีความรู้และความเชี่ยวชาญเพราะเรียนจบด้านสถาปัตยกรรม ประกอบกับไม่มีองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำผลิตภัณฑ์หนังแท้เหมือนรายอื่นๆ ทำให้ต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่าผู้ประกอบการ ในกลุ่มเดียวกัน จึงต้องใช้การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเพื่อให้ขายได้ราคาดีกว่า โดยในช่วงแรกได้ลองผิดลองถูกจนเริ่มเข้าที่เข้าทาง และมีแพทเทิร์นที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง จากนั้นจึงนำไปฝากขายตามร้านต่างๆ แต่พบว่าวิธีนี้ไม่สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้โดยตรง จึงตัดสินใจเปิดร้านเพื่อสร้างพื้นที่สำหรับลูกค้าที่มีความชื่นชอบ และหลงไหลเครื่องหนังที่มีดีไซส์เฉพาะตัวเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น จนในที่สุดสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าได้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ คิดว่าพื้นฐานสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องมี คือการรู้จักตัวเองให้ดีก่อนเป็นอันดับแรก
ส่วน อพิชาต บวรบัญชารักข์ เจ้าของร้านอาหาร "แหลมเกตุ อินฟินิต" ร้านอาหารทะเลที่บรรยากาศสวยเลิศ และโด่งดังครองใจนักกินมากที่สุดในเวลานี้ ร่วมแชร์ประสบการณ์ความสำเร็จการมีลูกค้า เฉลี่ยวันละกว่า 1,000 คนว่า สิ่งที่ทำให้แหลมเกตุแตกต่างจากร้านอาหารทั่วไป คือการเอาแฟชั่นและงานศิลปะเข้ามาใช้ในธุรกิจอาหาร พร้อมกับการตกแต่งร้านให้สวยงามด้วยดอกไม้สีขาว ในคอนเซป "โรงละคร" ทั้งการเปิดให้บริการเป็นรอบๆ การตัดชุดสวยงามให้พนักงานใส่บริการ ซึ่งทุกคนต้องแต่งหน้าให้สวยงามด้วย และการเปิดปิดม่านเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่าง ควบคู่การยึดมั่นในคุณภาพของวัตถุดิบที่สดใหม่ และรสชาติอาหารที่อร่อยถูกปากลูกค้า โดยอาศัยช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียในการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ จนเกิดเป็นกระแสที่ดีที่สุดของธุรกิจอาหาร นั่นก็คือการตลาดแบบ "ปากต่อปาก" สำหรับสิ่งที่อยากฝากไปถึงผู้ประกอบการคือ ความกล้าในการเผชิญหน้ากับความเสี่ยงจากการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ และการยึดมั่นในการทำสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้ดี เมื่อได้รับการตอบรับที่ดีจึงค่อยๆ ขยายให้เติบโต ซึ่งมีความปลอดภัยในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ โดย 3 สิ่งสำคัญที่ต้องมี คือ 1. สติ 2. สตางค์ และ 3. สตรอง
ขณะที่ นภนีรา รักษาสุข นักออกแบบแบรนด์ และผู้ก่อตั้ง Yindee Dising ย้ำถึงความสำคัญการออกแบบแบรนด์และแพคเกจจิ้ง ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้ขายได้ราคาสูงขึ้นว่า จากการทำงานที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการไทยเก่งมาก สินค้าและผลิตภัณฑ์แต่ละเจ้ามีคุณภาพค่อนข้างดี แต่สิ่งที่ยังขาดคือความเข้าในเรื่องของการดีไซน์ โดยเฉพาะตัวโลโก้และแพคเกจจิ้งทั้งที่สองสิ่งนี้สำคัญมาก ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือผลงานการออกแบบให้กับ ผลิตภัณฑ์กล้วยตาก bananasociety ซึ่งประสบปัญหาขายไม่ดี แม้ว่าจะทำการเปลี่ยนโลโก้และแพคเกจจิ้งแล้วครั้งหนึ่ง แต่เมื่อมีโอกาสได้เข้าไปดีไซน์ให้กับแบรนด์นี้ สิ่งแรกที่ทำคือการรับฟังปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการ เมื่อเข้าใจข้อมูลพื้นฐานเป็นอย่างดีแล้วจึงตั้งโจทย์ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่กล้วยตากของกินบ้านๆ จะไปวางขายในห้างสรรพสินค้า และส่งออกไปขายในต่างประเทศได้มากขึ้น ผ่านการวิเคราะห์ปัจจัย 3 ด้าน คือ 1. เรา คือสินค้าของเราเจ๋งหรือดีตรงไหน 2. ผู้บริโภค ต้องการอะไร และ 3. คู่แข่ง แตกต่างจากเราอย่างไร สุดท้ายจึงสรุปเป็นไอเดียในการออกแบบภายใต้คำว่า "กล้วยตากไทยระดับมิสยูนิเวิร์ส" สะท้อนผ่านโลโก้แบรนด์ และเปลี่ยนดีไซส์แพคเกจจิ้งให้ดูน่ากินและมีความอินเตอร์ จนสามารถนำไปขายในห้างสรรพสินค้าและส่งออกได้ตามเป้าหมาย และกลายเป็นโมเดลต้นแบบให้กับผู้ประกอบการไทยในปัจจุบัน
"ผู้ประกอบการไทยต้องเห็นถึงความสำคัญของการออกแบบ โดยต้องไม่ลืมว่าไม่ว่าสินค้าเราจะดีแค่ไหนแต่หากโลโก้และ บรรจุภัณฑ์ดูไม่โดดเด่น หรือแตกต่างจากสินค้ากลุ่มเดียวกันที่วางขายในท้องตลาด ก็จะไม่สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคให้ ยอมจ่ายได้ แต่หากทำแล้วปรับแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จ ต้องกลับมาวิเคราห์ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ 2 ประการ คือ 1. ดูความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และ 2. จะพัฒนาสินค้าและองค์ประกอบต่างๆให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค เมื่อสินค้าของเรามีคุณภาพและตรงกับความต้องการ นั่นคือจุดเริ่มต้นในการเปิดทางสู่ตลาดที่ดีที่สุด" นภนีรา กล่าวสรุป
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้จัดพิธีเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมและการออกแบบ หรือ "IDEA HOUSE" พร้อมเปิดเวทีถ่ายทอดดีเอ็นเอความสำเร็จ จาก 4 ครีเอทีฟและผู้ประกอบการชั้นนำของประเทศไทย สู่ผู้ประกอบการภาคเหนือ เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ โทรศัพท์ 053-245361-2 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th