กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าและสถานการณ์การผลิตข้าวคุณภาพมาตรฐานสากลของประเทศไทย ว่า รัฐบาลไทยโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยมีการดำเนินงานพัฒนาการผลิตข้าวที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับอย่างต่อเนื่อง มีการผลิตข้าวคุณภาพมาตรฐานปลอดภัย (GAP) ในพื้นที่นาแปลงใหญ่ที่มีการดำเนินการในปี 2560 จำนวน 1,175 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1.8 ล้านไร่ ชาวนาประมาณ 130,230 ราย ซึ่งมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 มีการนำร่องยกระดับการผลิตให้ได้ตามมาตรฐานสากลที่มีการพัฒนาระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรให้มีผลผลิตสูงขึ้น ด้วยต้นทุนการผลิตที่ลดลง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว จึงร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) และภาคีความร่วมมืออื่น ๆ สนับสนุนให้มีการผลิตข้าวมาตรฐานยั่งยืน (SRP = Sustainable Rice Production Standard) ในจังหวัดอุบลราชธานี และในปี 2560 จะมีการขยายการผลิตข้าวมาตรฐานยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในภาคกลาง 6 จังหวัด ถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและขยายผลการสนับสนุนการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน
ในปี 2560 กรมการข้าวร่วมกับ GIZ ได้เสนอแนวคิดโครงการ Thai Rice NAMA โดยจะเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการเพิ่มรายได้และยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกรอย่างแท้จริง ต่อ NAMA Facility ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ ซึ่งข้อเสนอของไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 7 โครงการ เพื่อรับเงินสนับสนุน จากทั้งหมด 75 โครงการ มีประเทศอื่นที่ได้รับคัดเลือก ได้แก่ ประเทศบราซิล เม็กซิโก (2 โครงการ) ฟิลิปินส์ ตูนีเซีย และประเทศอุกันดา ซึ่งโครงการ Thai Rice NAMA ถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน และขยายผลการสนับสนุนการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ที่สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวไทย อาทิ การลดต้นทุนการผลิต การเสริมสร้างศักยภาพชาวนาและศูนย์ข้าวชุมชน โครงการนาแปลงใหญ่ เป็นต้น โดยไทยจะต้องเสนอรายละเอียดโครงการ Thai Rice NAMA ภายในเดือนพฤศจิกายน 2560 หากได้รับคัดเลือกรอบสุดท้ายจะมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี โครงการของไทยจะมุ่งเน้นให้เกษตรกรรายย่อย ปรับเปลี่ยนการทำนาให้สอดคล้องกับมาตรฐานการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ซึ่งมาตรฐานข้าวยั่งยืนนี้สอดคล้องกับมาตรฐาน GAP โดยเพิ่มวิธีการผลิตข้าวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะภูมิอากาศ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme – UNEP) และสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ที่จะช่วยยกระดับมาตรฐาน GAP และสามารถพัฒนาต่อยอดสู่มาตรฐานอินทรีย์ สร้างทางเลือกให้เกษตรกรในการเชื่อมโยงตลาด โดยมีเป้าหมายที่จะทำงานกับเกษตรกรรายย่อย 100,000 ครัวเรือน ใน 6 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ชัยนาท สิงห์บุรี และจังหวัดอ่างทอง ซึ่งคาดการณ์ว่าการผลิตข้าวในเขตชลประทานจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ถึง 1.664 ล้านเมตริกตัน (CO2eq) หรือร้อยละ 26 ตลอดระยะเวลาโครงการ 5 ปี โดยการประเมินจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI)
ทั้งนี้ โครงการ Thai Rice NAMA จะเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการผลิตข้าว ได้สร้างความตระหนักรู้ และกำหนดมาตรการในการหาแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตข้าวร่วมกัน ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงาน อาทิ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ และภาคเอกชน ได้แก่ สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) สำนักงานเลขาธิการ SRP และบริษัท OLAMInternational ทั้งนี้ โครงการ Thai Rice NAMA อย่างเต็มรูปแบบ จะจัดทำขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน 2560 เพื่อเสนอต่อ NAMA Facility เพื่อรับการเงินทุนสนับสนุนหากได้รับการอนุมัติ โครงการจะสามารถดำเนินการในปี 2561 เป็นต้นไป