กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--นานมีบุ๊คส์
การเดินหน้าประเทศไทยตามนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" ตั้งเป้าหมายให้คนไทยทุกช่วงวัยมีทักษะ ความรู้และความสามารถเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีการศึกษาคุณภาพสูงและสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยสนับสนุนให้ใช้อินเตอร์เทอร์เน็ตเพื่อหาความรู้เพิ่มขึ้น และส่งเสริมการอ่านของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 85 ...เป้าหมายดังกล่าวดูจะเป็นโจทย์ใหญ่ให้กับหน่วยงานในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะบทบาทสำคัญอย่าง "บรรณารักษ์" หากไม่มีการปรับตัวท่ามกลางโลกที่ทุกคนมีอำนาจในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ห้องสมุดก็จะตายไปและบรรณารักษ์ ก็จะกลายเป็นอาชีพที่หมดความจำเป็นไปตามยุคสมัย
นานมีบุ๊คส์ หน่วยงานที่มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนทุกสาขาอาชีพ เล็งเห็นความจำเป็นดังกล่าวจึงขอใช้โอกาสครบรอบ 25 ปีนานมีบุ๊คส์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ "Librarian 4.0 รวมกลเม็ดชวนให้เด็กและเยาวชนอยากอ่านหนังสือ" โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมการอ่านมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูบรรณารักษ์จากทั่วประเทศที่เข้าร่วมงานกว่า 300 คน
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK Park ที่มาแบ่งปันแนวคิดเรื่องการปรับตัวของห้องสมุดทั่วโลก กล่าวว่า "ห้องสมุดทั่วโลกที่มีการปรับตัวนั้น จะเห็นว่ามี 4 จุดที่น่าสนใจ คือ ด้านกายภาพ ด้านการบริการ ด้านข้อมูล และด้านกิจกรรม ด้านกายภาพจะได้เห็นการออกแบบอาคารทั้งภายนอกและภายในที่สวยแปลกตาน่าดึงดูด การจัดสรรพื้นที่ที่มีมุมส่วนตัวและพื้นที่ร่วมกันมากขึ้น ด้านบริการที่มีเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวก เข้าถึงได้รวดเร็ว ด้านข้อมูลที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่หนังสือ หรืออีบุ๊กแต่ผนวกความบันเทิงทั้งเพลง ภาพยนตร์ เข้าด้วยกัน สามารถใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา รวมไปถึงอุปกรณ์ทำครัวหรือเครื่องมือช่างก็มีให้บริการ และสุดท้ายคือด้านกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวิร์คช็อป การเชิญผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ มาพบปะแลกเปลี่ยนกับผู้ใช้บริการ การตั้งประเด็นเพื่อมาถกกันอย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้ก็เพื่อเป้าหมายที่ทำให้ห้องสมุดได้กลายเป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างแท้จริง"
"สำหรับห้องสมุดโรงเรียนหรือห้องสมุดประชาชนของไทย แต่ละที่อาจมีข้อจำกัดในหลายปัจจัย คงต้องประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ไป แต่การปรับตัวก็สามารถทำได้ในลักษณะเดียวกันใน 4 ประเด็น เริ่มจากการปรับพื้นที่ให้มีบรรยากาศที่ผ่อนคลายยืดหยุ่นและผ่อนปรนมากขึ้น ทำให้เด็กรู้สึกสบายใจเมื่อเข้ามาใช้บริการ ในขณะเดียวกันเราก็ต้องจัดพื้นที่อื่นๆ ภายในโรงเรียนทำให้เขารู้สึกว่าอยู่ตรงไหนก็สามารถเรียนรู้ได้ ด้านหนังสือหรือสื่อการเรียนรู้ต้องมีหลากหลายครบทุกสาระวิชา ไม่ว่าครูวิทย์ ครูคณิต หรือครูวิชาใด พาเด็กๆ มาใช้บริการก็สามารถหยิบหนังสือภายในห้องสมุดมาใช้สอนได้ หนังสือที่เราเลือกมาก็ต้องตรงกับความสนใจของนักเรียนเช่นกัน ทั้งหนังสือด้านวิชาการ รวมถึงหนังสือเสริมความรู้ที่สอนทักษะชีวิตด้วย นอกจากหนังสือแล้ว ก็ต้องเน้นกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ ที่ต้องทำให้เข้ากับเด็กแต่ละช่วงวัย แต่ประเด็นสำคัญคือ กิจกรรมต้องทำให้เด็กมีส่วนร่วมกับเราจริงๆ เราต้องหาอุบายที่จะนำเด็กไปสู่การเรียนรู้ที่แท้จริง ในขณะที่ตัวครูเองก็ต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้ความรู้มาเป็นผู้อำนวยความสะดวกด้านความรู้ เปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงการเปิดใจ ศึกษาและใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เท่าทันยุคสมัยและพฤติกรรมเด็กในปัจจุบัน" ดร.ทัศนัย กล่าวเสริม
นอกจากการปรับบทบาทของห้องสมุดและบรรณารักษ์แล้ว การส่งเสริมการอ่านในโรงเรียนคงต้องทำอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย ดังตัวอย่างความสำเร็จของโรงเรียนเมืองพัทยา 11 และโรงเรียนเมืองพัทยา 7 ที่ตั้งเป็นนโยบายส่งเสริมการอ่านอย่างเป็นรูปธรรมและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องถึง 7 ปี โดย คุณผกาพันธุ์ วีระสิงห์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองพัทยา7และ คุณนฤมล อินทพงษ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองพัทยา 11 ได้แบ่งปันกิจกรรมที่ทำ ได้แก่
กลเม็ด "รักตัวเองต้องอ่านหนังสือ" โดยมีกระบวนการ คือ ร่วม – เลือก – อ่าน – แลก – แตกประเด็น โดยเริ่มจากตัวแทนครูและนักเรียนร่วมกันรวบรวมหนังสือต่างๆ แบบไม่ซ้ำกัน จำนวนเท่านักเรียนในโรงเรียน นำมาให้นักเรียนเลือกคนละ 1 เล่ม ทำเป็นกิจกรรมหน้าเสาธง จากนั้นอ่านหนังสือของตนเองภายในเวลา 2 สัปดาห์ และอ่านได้เท่าไหร่ก็บันทึกตามที่อ่านได้ เมื่อถึงกำหนดจึงนำเล่มของตนเองมาแลกกับคนอื่น เวียนไปเรื่อยๆ เมื่อครบกำหนดนักเรียนจะได้แสดงความคิดเห็นถึงหนังสือที่ได้อ่าน ทั้งหน้าเสาธง หน้าชั้นเรียน รวมไปถึงภายในกลุ่มเฟสบุ๊คของโรงเรียน โดยเพื่อนๆ สามารถแสดงความคิดเห็นถึงถึงหนังสือนั้นๆ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือคิดต่างก็ตาม
กลเม็ด "นินทาหนังสือ" กลเม็ดนี้จะมีคณะทำงานคัดเลือกหนังสือมา 1 เรื่องเท่านั้น จากนั้นจึงจัดซื้อหนังสือตามที่เลือก แล้วแจกให้นักเรียนแต่ละสายชั้นได้อ่าน เมื่อครบกำหนด จะตั้งกลุ่ม และพูดคุยถึงหนังสือที่ได้อ่าน ตามความคิดเห็นส่วนตัวของแต่ละคน นอกจากนี้ยังมีการตีความจากหนังสือมาแสดงละคร เชิญนักเขียนมาพบปะพูดคุย เพื่อร่วมวิจารณ์กันอีกด้วย
สิ่งที่ทำให้กิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จ คุณผกาพันธุ์ วีระสิงห์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองพัทยา 7 เปิดเผยว่า "เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของทุกๆ คนในโรงเรียน ทั้งผู้บริหาร บุคลากรและครูทุกคน ต้องร่วมกิจกรรมนี้เหมือนกัน ไม่เฉพาะแค่นักเรียนเท่านั้น ที่ครู ผู้บริหารต้องทำด้วยเพื่อให้เป็นตัวอย่างกับนักเรียน เมื่อคนส่วนมากทำก็เกิดเป็นกระแสไปกระตุ้นให้คนที่ยังไม่ทำมีแรงบันดาลใจว่าต้องทำเช่นกัน รวมไปถึงการบอกต่อทั้งปากต่อปาก รวมไปถึงการนำโซเชี่ยลมีเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ยิ่งเสริมให้เกิดกระแสการบอกต่อมากยิ่งขึ้น"
ในขณะที่ คุณอรทัย เฉลิมสินสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้ NANMEEBOOKS Learning Center และคุณนัยน์ปพร พญาชน ครูส่งเสริมการอ่านยอดเยี่ยมระดับประเทศ จากโรงเรียนวัดยกกระบัตร (ชุบราษฎร์นุสรณ์) ได้มาแบ่งปันกิจกรรมส่งเสริมการอ่านแบบ Hands-on ที่ประยุกต์เนื้อหาจากหนังสือมาทำกิจกรรมให้ครูได้ลงมือทำจริง กิจกรรมนี้ช่วยจุดประกายแนวคิดและความสนุกสนานให้กับคุณครูอย่างมาก
ครูแคท-วรัทยา แซ่แต้ ครูบรรณารักษ์ และครูโบ-ปาณิสรา เมฆโหรา ครูภาษาไทย จากโรงเรียนมัธยมปัญญารัตน์ เผยความรู้สึกเมื่อได้เข้าร่วมอบรมนี้ว่า "ด้วยเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ง่ายมากกว่าหนังสือ ก็เป็นโจทย์สำคัญกับตัวเองว่า ในบทบาทของครูบรรณารักษ์จะทำอย่างไรให้เด็กอ่านหนังสือมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน เราเองก็ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้เท่าทันเทคโนโลยีและเท่าทันเด็กนักเรียนในสมัยนี้ การได้มาร่วมงานนี้ทำให้เราได้เปิดโลก ได้รู้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้แนวคิดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่หลากหลาย โดยเฉพาะของโรงเรียนเมืองพัทยาที่บูรณาการการส่งเสริมการอ่านเข้ากับโซเชียลมีเดีย เพราะปัจจุบันไลฟ์สไตล์ของคนส่วนใหญ่ถูกผูกติดกับโซเชียลมีเดีย นักเรียนก็เช่นกัน เราห้ามไม่ให้เล่นไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้จักนำสิ่งที่เขาสนใจมารวมเป็นส่วนหนึ่ง เขาก็จะเกิดความสนใจและอยากมีส่วนร่วมมากขึ้น เป็นไอเดียที่ดีให้เราว่าโรงเรียนของเราควรพัฒนาห้องสมุดของโรงเรียนให้ดีขึ้น เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการเรียนรู้ของนักเรียน" ครูแคท กล่าว
ด้าน ครูโบ เผยว่า "ชอบกิจกรรมของโรงเรียนวัดยกกระบัตร ประทับใจที่นักเรียนเป็นคนอธิบายและชวนคุณครูทำกิจกรรม ซึ่งปกติเราจะเห็นแต่ครูเป็นผู้ให้ ทำให้เราเห็นว่าไม่ใช่แค่ครูเท่านั้นที่จะเป็นคนอธิบายหรือนำกิจกรรมได้อย่างเดียว แต่เราต้องปรับตัวโดยการนำเด็กเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยให้เด็กเป็นคนอธิบายและนำกิจกรรม เป็นการสร้างบทบาทให้กับนักเรียน ทำให้เขารู้สึกภูมิใจและอยากมีส่วนร่วมมากขึ้น เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงศักยภาพของตัวเอง ทำให้เราเห็นว่า ถ้าเราให้โอกาสเด็ก พวกเขาก็ทำได้"
อย่างไรก็ตามการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ คงไม่อาจคาดหวังไว้เป็นหน้าที่ของห้องสมุดหรือบรรณารักษ์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนคงต้องลงแรงร่วมมือกัน นานมีบุ๊คส์ จึงขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมผลักดันส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสร้าง Active Citizen คนเก่ง คนดี รับผิดชอบต่อสังคม เพื่ออนาคตของเด็กไทย การศึกษาไทย และประเทศไทย ต่อไป
ในโอกาสครบรอบ 25 ปี นานมีบุ๊คส์ยังได้จัดงานอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรสำหรับผู้บริหารและครูปฐมวัย หัวข้อ "Sensory Integration & Active Learning for Active Citizen" ในวันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคม 2560 เวลา 08.00 – 15.30 น. พร้อมกับงานสำคัญสำหรับผู้บริโรงเรียนโดยเฉพาะ ในงานสัมมนา "บทบาทของโรงเรียนในการจัดการเรียนรู้ที่มีความหมาย ได้ผลจริง เพื่อสร้างActive Citizen – คนเก่ง คนดี รับผิดชอบต่อตัวเอง ต่อสังคม" ในวันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม 2560 ณ อาคารนานมีบุ๊คส์เฮ้าส์ ซอยสุขุมวิท 31 (สวัสดี) ผู้บริหารและครูที่สนใจ เปิดเข้าร่วมงานฟรี สำรองที่นั่งได้ที่ คุณนิตยา และคุณชัญญา โทร. 0-2662-3000 ต่อ 4425, 5226 หรือ www.nanmeebooks.com