กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
ปัจจุบันโรคหัวใจในไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จากกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีไขมัน ทำให้เป็นโรคไขมันในเลือดสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และผู้ที่มีภาวะอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังมีโรคที่เกิดขึ้นกับหัวใจอีกมากมายและซับซ้อนจากเดิม ซึ่งเป็นปัญหาใหม่ระดับโลกและระดับประเทศ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ จึงแนะแนวทางการรักษาโรคซับซ้อนทางด้านหัวใจ สำหรับผู้ป่วยที่เข้าข่ายเสี่ยง รวมไปถึงวิธีการรักษาด้วยยาและการผ่าตัด เพื่อเตรียมรับมือกับโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นพ.ประดับ สุขุม ผู้อำนวยการ รพ.หัวใจกรุงเทพ เปิดเผยว่า พบสถิติผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจมากที่สุดถึง 40% และมีแนวโน้มว่าตัวเลขนี้จะสูงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ จากพฤติกรรมการใช้ที่ชีวิตที่เปลี่ยนไป อีกทั้งยังมีแนวโน้มเกิดโรคซับซ้อนทางด้านหัวใจมากขึ้นเช่นกัน ทำให้การรักษาโรคหัวใจในปัจจุบันต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของทีมแพทย์ รวมถึงเทคโนโลยีอันทันสมัยเพื่อช่วยในการวินิจฉัยอย่างแม่นยำและการผ่าตัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการผ่าตัดแบบแผลเล็กทางเลือกใหม่ที่สะดวก ปลอดภัย ฟื้นตัวได้ไว สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติในเวลาอันใกล้ เพื่อช่วยผู้ป่วยให้มีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยโรคหัวใจยอดฮิตอย่างโรคเส้นเลือดแดงโป่งพอง และผู้ป่วยที่จำเป็นต้องการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ ซึ่งทั้ง 2 อาการนี้สามารถรักษาได้ หากได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที
นพ.ทวีศักดิ์ โชติวัฒนพงษ์ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก รพ.หัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า โรคลิ้นหัวใจรั่วเป็นโรคที่พบมากในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงมาจากการติดเชื้อ เกิดภูมิต้านทานผิดปกติ และการเสื่อมสภาพของหัวใจเมื่ออายุมากขึ้น หรือบางรายเกิดจากภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบจนกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการหอบ เหนื่อย ไม่มีแรง หน้ามืดเป็นลมบ่อยๆ อาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจ เนื่องจากลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพ กรอบ แข็ง ความยืดหยุ่นน้อย และมีไขมันหินปูนเกาะ ทำให้ลิ้นหัวใจเปิดหรือปิดไม่สนิท ส่วนใหญ่ลิ้นที่มีปัญหา คือ Mitral Valve/Aortic Valve ซึ่งเป็นลิ้นหัวใจฝั่งซ้าย ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ มีบางครั้งพบในเด็ก แพทย์จะทำการวินิจฉัยและเลือกแนวทางการรักษา ในบางรายไม่จำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่เปิดหน้าอกเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจ แต่สามารถผ่าตัดแบบแผลเล็กที่มีความแม่นยำและปลอดภัยได้ ทำให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้น ความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนก็น้อยลง ในรายที่ลิ้นหัวใจ Rheumatic ลิ้นหัวใจแข็ง มีการตีบ การรั่ว เกิดจากแคลเซียมไปเกาะตัวที่ลิ้นหัวใจทำให้เป็นพังพืด วิธีการซ่อมลิ้นสามารถทำโดยการลอกแคลเซียมที่จับตัวออก และหาเนื้อเยื่ออื่นมาซ่อมแทนเพื่อให้ลิ้นหัวใจทำงานได้ใกล้เคียงปกติ หรือเหมือนเดิม แต่ในกรณีDegenerative ลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพตามวัย เช่น เอ็นยึดลิ้นหัวใจที่ยืด หรือขาด ลิ้นหัวใจรั่ว จำเป็นต้องใช้เทคนิคหรือวิธีการผ่าตัดมาซ่อมแก้ไขให้กลับทำงานได้ตามเดิม "ด้วยเทคนิคการรักษาที่มีมาตรฐานและทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญช่วยให้การผ่าตัดทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจส่วนใหญ่ทำให้คนไข้อาการดีขึ้น เหนื่อยน้อยลง และผลระยะยาวจะดีกว่าการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เนื่องจากไม่ต้องกังวลกับภาวะแทรกซ้อนจากการกินยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
นพ.วิฑูรย์ ปิติเกื้อกูล รองผู้อำนวยการศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก รพ.หัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดที่พบได้บ่อย คือ โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เกิดจากหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า(Aorta) เป็นหลอดเลือดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย ออกมาจากขั้วหัวใจทอดยาวจากช่องอกสู่ช่องท้องและให้แขนงเป็นหลอดเลือดที่นำเลือดแดงไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่างๆในร่างกายหลายแห่ง โรคหรือภาวะบางอย่างอาจทำให้ผนังหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้ามีความอ่อนแอ เกิดการโป่งพองขยายขนาดจนใหญ่กว่าปกติขึ้น (Aneurysm) ซึ่งเมื่อมีการโป่งขยายจนถึงระดับหนึ่งก็จะแตกทำให้เสียเลือดจำนวนมากกระทันหันจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว ปัจจุบันการวินิจฉัยจนไปถึงการผ่าตัดทำได้รวดเร็ว ด้วยทีมแพทย์ผ่าตัดที่ที่มีความเชี่ยวชาญช่วยเสริมประสิทธิภาพและความแม่นยำของการรักษาที่ต้องผ่าตัดในระยะเวลานาน
โรคเส้นเลือดแดงโป่งพองมักไม่มีอาการนำมาก่อน ดังนั้นผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการที่หนักแล้ว การวินิจฉัยและการรักษาจึงต้องทำอย่างทันท่วงที การตรวจสุขภาพ เอ็กซเรย์ หรืออัลตราซาวด์ การตรวจคัดกรองถือว่ามีประโยชน์มากในการช่วยวางแผนการรักษาและการป้องกัน ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการตรวจคัดกรองความเสี่ยงทางหลอดเลือดทั้งร่างกาย ได้แก่ การตรวจ ABI เพื่อดูสภาพเส้นเลือดที่ขา, การตรวจ Carotid dropper เพื่อดูเส้นเลือดแดงบริเวณที่คอที่ไปเลี้ยงสมอง, การตรวจ Aneurysm Screening เพื่อดูเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองบริเวณหน้าอกและช่องท้อง, การตรวจ M.R.A. Brain เพื่อดูสภาพเส้นเลือดสมอง การรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้าโป่งพองขึ้นกับความเสี่ยงในการแตกของหลอดเลือดยิ่งมีขนาดใหญ่ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงในการแตกสูงกว่า ดังนั้นจึงแนะนำให้ผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดเอออร์ต้าใหญ่หรือมีอัตราการโป่งขยายเร็ว ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการที่บ่งชี้ว่าหลอดเลือดมีความเสี่ยงในการแตกสูง เช่น ปวดท้อง หรือเจ็บหน้าอก หรือมีอาการจากการที่หลอดเลือดเอออร์ต้ากดเบียดอวัยวะข้างเคียง ก็นับเป็นข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเช่นเดียวกัน ถ้าหลอดเลือดเอออร์ต้ายังมีขนาดไม่ใหญ่ถึงขั้นที่จะต้องผ่าตัดก็แนะนำให้ตรวจติดตามต่อร่วมกับให้ยาลดความดันโลหิตเพื่อลดแรงดันเลือดที่กระทำต่อผนังหลอดเลือด
สำหรับการผ่าตัดเปิด (Open Repair) หรือใส่โครงลวดเพื่อรักษาหลอดเลือดแดงใหญ่ผิดปกติ (Conventional Surgery) รพ. หัวใจกรุงเทพ มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย เครื่องมือในการรักษาต่างๆ อาทิ FMS (Fluid Management System) เครื่องให้เลือดและน้ำเกลือด้วยความเร็วสูง พร้อมใช้ในกรณีที่มีการฉีกขาดของหลอดเลือดแดงใหญ่ และเสียเลือดจำนวนมาก Cell Saver เป็นเครื่องมือที่นำเลือดผู้ป่วยนำกลับมาให้เพื่อลดการให้เลือดจากแหล่งอื่นๆ ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการให้เลือดจากแหล่งอื่นๆ รวมไปถึง ห้องผ่าตัด Hybrid Operation Room ห้องผ่าตัดเทคโนโลยีสูง ที่สามารถผ่าตัด และฉีดสีได้ไปพร้อมๆกัน เพื่อความแม่นยำในการใส่ขดลวดค้ำยันในตำแหน่งที่ถูกต้อง ฯลฯ
นพ.อรรถภูมิ สู่ศุภอรรถ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก เชี่ยวชาญเรื่องการผ่าตัดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง รพ.หัวใจกรุงเทพ กล่าวเสริมว่า เทคโนโลยีการผ่าตัดในปัจจุบันทำได้ดีขึ้น นอกจากการผ่าตัดเปิดเพื่อเย็บซ่อมหลอดเลือดแล้ว ในบางรายแพทย์จะใช้การผ่าตัดสอดสายสวนเพื่อรักษาโรคหลอดเลือดโป่งพองในช่องท้อง (Endovascular Aortic Aneurysm Repair หรือ EVAR) และการใส่ท่อหลอดเลือดเทียม (vascular stent graft) ให้กับผู้ป่วยโรคหัวใจโดยเฉพาะ ข้อดีของการทำ EVAR คือเหมาะสมกับผู้ป่วยกลุ่มที่อายุมาก มีปัจจัยเสี่ยงสูง โดยวิธีการนี้ภาวะแทรกซ้อนจะน้อยกว่าการผ่าตัดใหญ่เพื่อซ่อมหลอดเลือดโป่งพอง ซึ่งการผ่าตัดแผลเล็กนั้น จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลต่ำ อย่างไรก็ตาม การดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ
พญ.ปราณิศา เหลืองรัศมีรุ่ง แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูหัวใจ รพ. หัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า การออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคหัวใจจะส่งผลดีต่อสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วย เนื่องจากร่างกายมีการปรับตัวในการนำออกซิเจนไปใช้ได้ดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีสมรรถภาพร่างกายที่ดีช่วยลดอาการต่างๆ ของโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงช่วยป้องกันและควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด เพิ่มความสามารถการละลายลิ่มเลือด และปรับปรุงการทำงานของเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด ทำให้สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น มีสภาพจิตใจและคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย ปัจจุบันการบริหารร่างกายป้องกันโรคหัวใจ (Primary Prevention) ถูกนำมาใช้มากขึ้น ในช่วงทำกายภาพหลังผ่าตัด ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูได้เร็ว และป้องกันการกลับมาของโรคหัวใจได้อีกครั้ง การทำกายภาพจะแต่งต่างกันไปตามลักษณะของผู้ป่วย และประเภทของโรคหัวใจ ซึ่งขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์เป็นหลัก
โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพมุ่งเน้นในการรักษา คือ การเพิ่มความปลอดภัยในการผ่าตัด รักษา ดูแลด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัย ลดภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด มีเครือข่ายโรงพยาบาลครอบคลุมทั่วประเทศ สามารถให้คำปรึกษา หรือทำการผ่าตัดให้ได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการฝึกอบรมให้ความรู้แก่แพทย์ด้วยกันอีกด้วย ถือได้ว่าเป็นการให้บริการด้านโรคหัวใจในทุกด้าน ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง