กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย
นายสุริยะ สามิบัติ นายปฏิทาน มาลาวรรณ และนายกตตน์ชยางกูร กองศิริ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะการบิน มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย นำผลงาน "Thai light" แสงแห่งความเป็นไทย คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 2 จากการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์ ในงาน NARA : Product Design Contest ภายใต้หัวข้อ "Clay For Your Lifestyle" ของใช้ดินปั้นในสไตล์คุณ จัดโดยบริษัท นารา แฟคทอรี่ โดยการประยุกต์นำหลักศิลปะมาผสมผสานใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ ศิลปะดินปั้นกับที่อยู่อาศัย ศิลปะดินปั้นกับอาหาร ศิลปะดินปั้นกับเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น สำหรับการประกวดครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมประกวด 35 ทีม และได้คัดเหลือ 6 ชิ้นงาน ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจากแบบนำเสนอผลงาน จะต้องนำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการ พร้อมด้วยผลงานต้นแบบ ในวันตัดสินรอบสุดท้าย ซึ่งผลปรากฏว่าผลงาน "Thai light" แสงแห่งความเป็นไทย ของนักศึกษามหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชียได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 ณ ลานกิจกรรม ชั้น LG ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน
นายสุริยะ สามิบัติ กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ว่า "ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่าเราไม่คิดว่าเราจะได้รางวัล เพราะมีทีมที่ผ่านเข้ารอบทั้งหมด 35 ทีม ซึ่งผู้เข้าแข่งขันมีทั้งประชาชนทั่วไปและนักศึกษา ที่สำคัญทีมเราไม่มีทักษะในการปั้นและการออกแบบเลย แต่เมื่อเราได้ยินเสียงประกาศ ทีมที่ชนะเลิศ ลำดับที่ 2 จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย รู้สึกดีใจมากครับ สำหรับแนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ดินปั้น Thai Light (แสงแห่งความเป็นไทย) ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภูมิปัญญาไทยในเรื่องการประดิษฐ์เครื่องแขวนดอกไม้สด เพราะเป็นงานประดิษฐ์ที่บ่งบอกถึงความประณีตและความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย แต่ในปัจจุบันเครื่องแขวนดอกไม้สดไม่ได้รับความนิยมในการประดิษฐ์และใช้งาน จึงทำให้คนรุ่นใหม่หาชมได้ยาก เราจึงนำภูมิปัญญานี้กลับขึ้นมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ เริ่มต้นด้วยการออกแบบโดยถอดแบบส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการร้อยอุบะ การถักตาข่าย ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเครื่องแขวนดอกไม้สดมาประยุกต์ให้เกิดความทันสมัย โดยโครงสร้างเราใช้เหล็ก และถักตาข่ายด้านข้างเป็นลายสี่ก้านสี่ดอก ซึ่งเป็นลายตาข่ายโบราณ ส่วนด้านข้างตาข่ายทีมเราได้คิดค้นลายตาข่ายขึ้นมาเอง โดยเราให้ชื่อว่าลาย "เหลี่ยมอมรินทร์" ถักเป็นสี่เหลี่ยมมาตกแต่งด้านข้างตาข่าย และด้านบนเราตกแต่งด้วยการนำดอกพุดมารวมกันให้มีลักษณะคล้ายดอกไม้หลายลักษณะ ตกแต่งให้เกิดความสวยงาม ผลงานชิ้นนี้ต้องใช้ความอดทนในการทำมาก เพราะเราต้องปั้นดอกพุดที่ใช้ทั้งหมดประมาณ 14,000 ดอก และใช้เวลาในการสร้างสรรค์ผลงานประมาณ 1 เดือนครับ การประกวดครั้งนี้สอนให้พวกเรามีความอดทน ความพยายาม และความสามัคคี เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย ที่สำคัญเราได้ประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน"