กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องโครงการพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยให้เป็นพื้นที่บริการทางวัฒนธรรมระดับนานาชาติ ระยะที่ 2 โดยมีการนำเสนอวีดิทัศน์และรายละเอียดโครงการโดย นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ ผู้ตรวจราชการ วธ. ,นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต ที่ปรึกษา วธ. , นายสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ อดีตผู้ตรวจราชการ วธ. และ นายจักรพันธ์ วัชระเรืองชัย สถาปนิกชำนาญการ กรมศิลปากร จากนั้นได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและตอบข้อซักถามกับประชาชน ผู้สนใจ ผู้แทนสถาบัน/สมาคมผู้ประกอบการ ศิลปิน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปวัฒนธรรม เครือข่ายทางวัฒนธรรม ผู้ใช้บริการศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ส่วนราชการ สถานศึกษา ชุมชน สื่อมวลชนและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
ปลัด วธ. กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีของรัฐบาล นโยบายพัฒนาสู่ประเทศไทย 4.0 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) สังคมไทยจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพความพร้อมในด้านองค์ความรู้ โดยเฉพาะองค์ความรู้บนพื้นฐานความเป็นไทย และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ในระบบและนอกระบบที่มีมาตรฐาน อาทิ ศูนย์วัฒนธรรม โรงละคร หอศิลป์ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนในสังคมสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ในสังคมโลก ได้อย่างสะดวก รวดเร็วและถูกต้อง วธ. จึงเห็นควรพัฒนาและขยายศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยเดิม เป็นพื้นที่บริการทางวัฒนธรรมระดับนานาชาติ เพื่อเพิ่มพื้นที่บริการให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งในและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น โดยแบ่งการดำเนินการ 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ก่อสร้างอาคารที่ทำการ วธ. ซึ่งอยู่ระหว่างตกแต่งและจะเข้าปฏิบัติงานในเดือนสิงหาคม 2560 และอาคารหอศิลป์ร่วมสมัย คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2562 ส่วนระยะที่ 2 ก่อสร้างอาคารศูนย์ประชุม สัมมนาและจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ อาคารโรงละครแห่งใหม่ และอาคารศูนย์ข้อมูลองค์ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรม
ปลัด วธ. กล่าวว่า ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานระยะที่ 2 เป็นไปตามแผนแม่บทพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยฯ และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน วธ. จึงได้จัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในครั้งนี้ เพื่อนำผลสรุป พร้อมทั้งความคิดเห็น ข้อเสนอแนะไปใช้ประโยชน์วางแผนและพัฒนาโครงการพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยฯ ให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทยต่อไป
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยฯ จะสร้างประโยชน์ต่อประเทศในการพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ การถ่ายทอด การสาธิตการฝึกอบรมและจัดกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรมระหว่างประเทศในระดับนานาชาติ (International Cultural Gateway) สังคมไทยมีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ และกิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรม อันจะนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ และที่สำคัญประชาชนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมทั้งไทยและสากล มีความเข้าใจเกิดทุนทางปัญญา และภูมิคุ้มกัน สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เกิดมูลค่าเพิ่มทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มตลาดของการบริการและผลผลิตทางศิลปวัฒนธรรมสู่สังคมโลก