กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--มรภ.สงขลา
มรภ.สงขลา จับมือนักวิจัยฝรั่งเศล ปรับปรุงสมบัติยางธรรมชาติ ดึงจุดเด่น ยืดหยุ่น แข็งแรงมาดัดแปรโครงสร้างทางเคมี ให้ทนต่อการใช้งานภายใต้สภาวะโอโซน หวังทดแทนยางสังเคราะห์ที่ต้นทุนผลิตสูง
ผศ.ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ อาจารย์โปรแกรมวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงงานวิจัยปรับปรุงสมบัติของยางธรรมชาติให้ทนต่อการใช้งานภายใต้สภาวะโอโซน ว่า เป็นงานวิจัยที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ผลผลิตจากยางพารา โดยการเพิ่มสมบัติและมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของภาคใต้ เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรมยางเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในประเทศไทย และมีการใช้ยางสังเคราะห์อย่างมาก เช่น ในอุตสาหกรรมรถยนต์ใช้ยางสังเคราะห์เป็นผลิตภัณฑ์อะไหล่ ยางรถยนต์ ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม ยางสังเคราะห์ที่ผลิตขึ้นใช้วัตถุดิบจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป ทำให้ต้นทุนในการผลิตราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตนในฐานะผู้รับผิดชอบบทความและทีมวิจัย จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศฝรั่งเศส (du Maine Universite) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาการดัดแปรโครงสร้างยางธรรมชาติ ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางเป็นชิ้นงาน
ผศ.ดร.พลพัฒน์ กล่าวว่า งานวิจัยที่จัดทำขึ้นมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากยางธรรมชาติ ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย โดยปรับปรุงสมบัติของยางธรรมชาติให้ทนต่อการใช้งานภายใต้สภาวะโอโซน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วยางธรรมชาติมีสมบัติที่ดีหลายประการ เช่น ความยืดหยุ่น ความแข็งแรง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ยางธรรมชาติมีสมบัติบางประการที่ด้อยกว่ายางสังเคราะห์ หนึ่งในข้อด้อยนั้นคือความทนโอโซน ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงได้พยายามแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการดัดแปรโครงสร้างทางเคมีของยางธรรมชาติเพื่อให้มีสมบัติเฉพาะ ซึ่งส่งผลต่อสมบัติความทนโอโซน บทความวิจัยเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ (Polymer Degradation and Stability) ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูล ISI เนื้อหาในบทความวิจัยกล่าวถึงการศึกษาสมบัติความทนโอโซนของผลิตภัณฑ์ยางที่ได้ผ่านการดัดแปรโครงสร้างโดยใช้ปฏิกิริยาไฮโดรจิเนชัน และพบว่ายิ่งความทนต่อโอโซนเพิ่มขึ้นกับปริมาณการดัดแปร