กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรฯ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ ทั้งนโยบายการบริหารจัดการแปลงใหญ่ข้าว และสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อวันก่อน
พลเอกฉัตรชัย เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายให้เป็นตลาดถาวร มีสถานที่ตั้งที่แน่นอนและเปิดให้บริการทุกวัน เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้มีสถานที่จำหน่ายสินค้า ให้เกษตรกรหมุนเวียนจัดหาสินค้าที่ตนเองผลิตมาวางจำหน่าย และยังเป็นการรองรับสินค้าสำหรับพี่น้องเกษตรกรในแปลงใหญ่ เกษตรกรทฤษฎีใหม่ วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรทั่วไป เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในท้องถิ่นได้มีแหล่งจำหน่ายผลผลิตที่แน่นอน สามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้มีคุณภาพและสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งจากการดำเนินที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งยกระดับภาคการเกษตรด้วยนโยบายส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ ส่งผลทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนได้ 20% และเพิ่มผลผลิตจากการทำเกษตรแปลงใหญ่ได้ 3 % ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับจังหวัดอุตรดิตถ์ได้มีการจัดตั้งตลาดสินค้าเกษตรขึ้นที่สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด และมีการส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรของสหกรณ์ ให้เป็นตลาดถาวรและเปิดจำหน่ายได้ทุกวัน เพื่อเป็นช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกรในพื้นที่อำเภอลับแลมีสถานที่จำหน่ายผลผลิตในท้องถิ่น สามารถวางแผนการผลิตได้ อย่างเป็นระบบ โดยได้มีการรวบรวมพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอำเภอลับแล ได้แก่ ทุเรียน ลางสาด ลองกอง มังคุด ข้าว หอมแดง และพริก มีการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย GAP ผลไม้ตามฤดูกาลซึ่งเป็นสินค้าเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น ทุเรียน มะปราง โดยตลาดสินค้ากลางสินค้าเกษตรอำเภอลับแล จะเป็นตลาดที่ช่วยแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร ป้องกันปัญหาความไม่เที่ยงตรงของการชั่งน้ำหนัก ลดการถูกกดราคารับซื้อจากพ่อค้า การเปิดตลาดสินค้าเกษตรครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย เช่น สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, หอการค้าจังหวัดอุตรดิตถ์, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
"การดำเนินงานของตลาดสินค้าเกษตรของสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด ในปัจจุบันประชากรในอำเภอลับแล 17,579 ครัวเรือน เป็นสมาชิกสหกรณ์ 8,000 ครัวเรือน จากการทีได้ทำการเปิดตลาดสินค้าเกษตร ของสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด ทางตลาดมีการเปิดจำหน่ายสินค้าของพี่น้องเกษตรกรทุกวัน สินค้าที่มีจำหน่ายในตลาดสินค้าเกษตร อาทิเช่น ข้าวสารของโรงสีสหกรณ์และโรงสีเครือข่าย รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรที่ออกตามฤดูกาล เช่น ทุเรียนหมอนทอง ทุเรียนหลง – หลินลับแล มังคุด ผัก และปลาสด ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรในสหกรณ์ ส่งผลให้เกษตรกรผู้ผลิตในพื้นที่อำเภอลับแล สามารถร่วมกันวางแผนการผลิตและการตลาดได้อย่างเป็นระบบ เนื่องจากมีสถานที่จำหน่ายผลผลิตในท้องถิ่น และสามารถจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ต้นทุนการตลาดลดลงสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด มีสถานที่จัดเก็บผลผลิตทางการเกษตร ทำให้สามารถรักษาคุณภาพของสินค้าเพื่อรอการจำหน่ายได้" พลเอกฉัตรชัย กล่าว
ทั้งนี้ เป้าหมายการดำเนินงานของตลาดสินค้าเกษตรของสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด ในระยะต่อไปเมื่อตลาดได้รับการตอบรับและเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น ก็อาจจะมีการพัฒนาเป็นตลาดกลางขนาดใหญ่เพื่อรองรับการกระจายสินค้าในระดับจังหวัดและภูมิภาค และจะพัฒนาให้เป็นตลาดกลางสินค้าเกษตรของจังหวัดได้ในอนาคต และพัฒนาให้เป็นสถานที่จำหน่ายข้าวสารของโรงสีเครือข่ายสหกรณ์และศูนย์จำหน่ายสินค้าจากสหกรณ์ในภาคต่าง ๆ ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมสมาชิกรวมกลุ่มเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยที่มีคุณภาพ ปรับปรุงอุปกรณ์ทางการตลาดให้มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการเป็นสถานที่เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรโดยการแปรรูป โดยเป้าหมายการดำเนินงาน เกษตรกรมีรายได้จากการนำสินค้าเกษตรมาจำหน่ายได้ปีละ 10,400,000 บาท
ด้านนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินนโยบายจัดตั้งตลาดสินค้าเกษตรในสหกรณ์ต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค โดยจะคัดเลือกสหกรณ์ที่มีความพร้อม เปิดพื้นที่เป็นตลาดสินค้าเกษตร เพื่อเป็นสถานที่ในการจำหน่ายผลผลิตของสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรในพื้นที่ เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่มีความสด ใหม่ สะอาดและมีคุณภาพจากเกษตรกรโดยตรง ขณะนี้ได้เปิดตลาดสินค้าเกษตรในสหกรณ์แล้วจำนวน 13 แห่ง ใน 10 จังหวัด ซึ่งช่วงของการเริ่มต้นดำเนินโครงการจะไม่เน้นเปิดตลาดที่มีขนาดใหญ่มากนัก แต่จะเลือกจากความพร้อมของสหกรณ์ที่จะเปิดตลาดสินค้าเกษตร ควบคู่กับการสร้างการเรียนรู้เรื่องของการตลาดให้กับเกษตรกร โดยจะเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนแนวคิดในการผลิตสินค้าการเกษตรระหว่างเกษตรกรด้วยกัน และเกษตรกรจะได้มีโอกาสรับฟังความต้องการของผู้บริโภคด้วย เพื่อจะได้กลับไปผลิตสินค้าที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้และมีอาชีพที่มั่นคงในที่สุด
"กรมฯกำลังดำเนินโครงการพัฒนาสหกรณ์การเกษตรเป็นองค์กรหลักระดับอำเภอ โดยจะพัฒนาความเข้มแข็งของสหกรณ์ภาคการเกษตรระดับอำเภอให้เป็นที่พึ่งของสมาชิกสหกรณ์ เกษตรกรและคนในชุมชน และนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากของทุกอำเภอทั่วประเทศ โดยสหกรณ์การเกษตรในระดับอำเภอจะทำหน้าที่เป็นแกนนำในการนำนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปดำเนินการเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร และจะขยายตัวไปอย่างต่อเนื่อง การจัดตั้งตลาดสินค้าเกษตรในพื้นที่ของสหกรณ์การเกษตรที่มีความพร้อม เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับความเข้มแข็งสหกรณ์ในระดับอำเภอ เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรนำสินค้าที่ผลิตขึ้น ทั้งข้าวสาร ผักผลไม้ อาหารแปรรูป มาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง ผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่จะมาจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งจากโครงการเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน และเกษตรกรที่ได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ ได้นำผลผลิตมาจำหน่ายในราคาท้องถิ่นให้กับผู้บริโภคโดยตรง จะทำให้เกษตรกรมีแหล่งจำหน่ายผลผลิตที่ชัดเจน และผู้บริโภคยังสามารถเลือกซื้อสินค้าที่สดใหม่มีคุณภาพในราคายุติธรรมอีกด้วย" นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว