กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--การยางแห่งประเทศไทย
การยางแห่งประเทศไทยพร้อมเดินหน้าผลักดันมาตรการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศอย่างต่อเนื่อง ย้ำ หากทุกส่วนงานร่วมกันสนับสนุนการใช้ยางในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามแนวทางนโยบายฯ อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวเผยว่า กยท. ในฐานะองค์กรที่มีบทบาทหลักในการพัฒนายางพาราทั้งระบบแบบครบวงจร ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยาง โดย กยท. ได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนตามแนวทางนโยบายของรัฐบาลในการให้หน่วยงานต่างๆ หันมาใช้ยางพารามาเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเกิดเป็นเป็นผลิตภัณฑ์ และสินค้าต่างๆ ภายในประเทศ รวมถึงด้านสาธารณูปโภค อาทิ การทำถนนยางพารา แผ่นปูพื้นยางพารา โดยเฉพาะถนนยางพารานั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการพัฒนางานวิจัยโดยการทดลองนำยางพาราไปเป็นส่วนผสมในการทำถนน ซึ่งการทำถนนยางพารา มีหลายกระบวนการและขั้นตอนที่เป็นต้องให้ความสำคัญไม่เพียงแค่การเลือกยางไปผสมกับสารประกอบอื่นๆ ทำถนนเท่านั้น แต่กระบวนการในการพัฒนาให้ได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน รวมถึง กระบวนการบริหารจัดการเพื่อการลงทุน เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายจะต้องร่วมกันผลักดัน ซึ่งรัฐบาลนี้ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานรัฐให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
"ด้าน กยท. ได้เดินหน้าผลักดันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมในระเบียบว่าด้วยการพัสดุในส่วนของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางที่ได้รับมาตรฐาน มอก. เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถดำเนินการตั้งงบประมาณได้ ฉะนั้น คาดว่าในปีต่อไป หน่วยงานต่างๆ ในประเทศ ซึ่งสามารถนำยางพาราไปใช้เพื่อทำถนน ปูพื้น หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ก็ตามที่ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว จะเป็นโอกาสในการเพิ่มปริมาณการใช้ยาง และส่งเสริมการนำยางพาราไปใช้ให้เกิดประโยชน์ภายในประเทศให้มากที่สุด" ผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติม
ดร.ธีธัช กล่าวว่า ขณะเดียวกัน กยท. ได้นำร่องเดินหน้าร่วมมือกับบริษัทเอกชนที่ผลิตยางล้อ นั่นคือ "ดีสโตน" ซึ่งเป็นแบรนด์ยางล้อของไทยที่ส่งขายทั่วโลก ทั้งในแถบเอเชียและยุโรป ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่นำผลผลิตจากยางพาราไปแปรรูปเป็นส่วนประกอบรถยนต์ประเภทต่างๆ มากที่สุด ภายใต้แบรนด์ THAI-TYRE เป็นโครงการยางล้อประชารัฐ ที่ผลิตจากวัตถุดิบชั้นเยี่ยมของชาวสวนยางไทย ผลิตจากบริษัทคนไทยที่มีมาตรฐาน คุณภาพสากล และเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่เกิดจากการบูรณาการจากองค์กร 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคเกษตรกร ซึ่งในระยะเวลา 2 ปี มีเป้าหมายการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อยจำนวน 100,800 กิโลกรัม
"อย่างไรก็ตาม ยังมีผลิตภัณฑ์ หรือธุรกิจภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้ยางพาราของประเทศให้เพิ่มมากขึ้น หากทุกภาคส่วน ร่วมกันใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้นโดยปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นการแสดงให้ผู้ซื้อและนานาประเทศ เชื่อมั่นได้ว่า ประเทศไทยมีความเข้มแข็งและผลผลิตยางพาราของไทยมีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ และสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติต่อไป" ดร.ธีธัช กล่าวทิ้งท้าย