กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--โรเบิร์ต บ๊อช
ด้วยเม็ดเงินลงทุนนับพันล้านเหรียญยูโรในเทคโนโลยีแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ 12 นิ้ว
เงินลงทุนทั้งหมดสำหรับโรงงานใหม่ จะก่อให้เกิดการจ้างงานสูงสุด 700 ตำแหน่ง
มีมูลค่านับพันล้านเหรียญยูโร
ดร. เดนเนอร์ ซีอีโอของบ๊อช เผย "โรงงานผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิก ส์แห่งใหม่นี้ นับเป็นการลงทุนกับโครงการเดี่ยวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของบ๊อชนับตั้งแต่ก่อตั้งมากว่า 130 ปี"
มร. เดิร์ก โฮไฮเซล คณะกรรมการบริหารของบ๊อช ระบุ "รัฐแซกโซนี เป็นทำเลที่เหมาะสำหรับการพัฒนาทางอุตสาหกรรมอย่างยิ่ง มีศักยภาพที่พร้อมต่อการพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านเซมิคอนดักเตอร์ของเรา"
รัฐบาลกลางและระดับท้องถิ่นต่างชื่นชมบ๊อชในการมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจในเยอรมนี
สตุ๊ตการ์ต และเดรสเดน เยอรมนี – บ๊อชยังคงเดินหน้าลงทุนจริงจังอย่างต่อเนื่องในเยอรมนี โดยมีแผนเปิดสายการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่เมืองเดรสเดน และเพื่อสนองต่อความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นตามยุค IoT (Internet of Things) และแอพพลิเคชั่นบนมือถือ โรงงานใหม่แห่งนี้จะผลิตชิพเพื่อรองรับมาตรฐานเวเฟอร์ขนาด 12 นิ้ว โดยการก่อสร้างโรงงานไฮเทคแห่งนี้ จะแล้วเสร็จภายในปีพ.ศ. 2562 โดยจะเริ่มสายงานผลิตได้ในช่วงปลายปีพ.ศ. 2564 ด้วยเม็ดเงินลงทุนประมาณหนึ่งพันล้านเหรียญยูโร
"โรงงานผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์แห่งใหม่นี้ นับเป็นการลงทุนในโครงการเดี่ยวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของบ๊อชนับตั้งแต่ก่อตั้งมากว่า 130 ปี" ดร. โว้คมาร์ เดนเนอร์ ประธานคณะผู้บริหารของโรเบิร์ต บ็อช จีเอ็มบีเอช กล่าว และเสริมว่า "โรงงานแห่งใหม่นี้จะก่อให้เกิดการจ้างงานในเดรสเดนกว่า 700 ตำแหน่ง เซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นองค์ประกอบหลักในระบบอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท ยิ่งในโลกแห่งการเชื่อมต่อและระบบอัตโนมัติขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ยิ่งมีการนำเซมิคอนดักเตอร์ไปใช้ในหลายรูปแบบ หลายด้านมากขึ้น การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของเรา จึงเป็นฐานรองรับอนาคตที่สดใส และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของเราด้วย" ดร. เดนเนอร์ กล่าว
ผลการศึกษาโดยไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สยังได้ประเมินว่า ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกจะเติบโตขึ้นมากกว่าร้อยละ 5 ต่อปี เรื่อยไปจนถึงปีพ.ศ. 2562 โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการขับเคลื่อนและ IoT
ฐานการลงทุนในเยอรมนี เป็นที่มั่นสำหรับธุรกิจไฮเทค
นางบริจิตต์ ซิปพริซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงาน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กล่าวแสดงความชื่นชมต่อการลงทุนของบ๊อช ในการเลือกเยอรมนีให้เป็นฐานสำหรับธุรกิจไฮเทค "เรายินดีที่บ๊อชเลือกลงทุนในรัฐแซกโซนี การพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านเซมิคอนดักเตอร์ในเยอรมนีและในยุโรป ถือเป็นการลงทุนกับเทคโนโลยีหลักแห่งอนาคต และเป็นหนทางนำไปสู่การรักษาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งศักยภาพของเยอรมนีในฐานะฐานที่ตั้งสำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม"
หากได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการยุโรปแล้ว กระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานมีแผนสนับสนุนการก่อสร้างและดำเนินงานโรงงานผลิตเวเฟอร์แฟบแห่งใหม่นี้ที่เมืองเดรสเดน "ในฐานะเมืองอุตสาหกรรม รัฐแซกโซนีมีสภาพแวดล้อมที่พร้อมสนับสนุนให้ความเชี่ยวชาญด้านเซมิคอนดักเตอร์ของเรารุดหน้า" ดร. เดิร์ก โฮไฮเซล คณะกรรมการบริหารของโรเบิร์ต บ๊อช จีเอ็มบีเอช กล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มคลัสเตอร์ธุรกิจไมโครอิเล็กทรอนิกส์ของเดรสเดนซึ่งรู้จักกันในชื่อ "ซิลิคอน แซกโซนี" นั้น ไม่เป็นสองรองใครในยุโรป เพราะเป็นแหล่งรวมผู้ผลิตยานยนต์และบริการต่าง ๆ รวมทั้สถาบันการศึกษาที่โดดเด่นทางด้านเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังมีโครงการ "ดิจิทัล ฮับ" ที่ก่อตั้งโดยกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงาน ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาให้เมืองเดรสเดนเป็นระบบนิเวศที่รองรับ IoT บ๊อชต้องการประสานความร่วมมือกับบริษัทในท้องถิ่น ซึ่งจะไม่เพียงเสริมศักยภาพให้เยอรมนีเท่านั้น แต่ยังหมายถึงศักยภาพของยุโรปในการพัฒนาแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญ
"โครงการนี้จะยิ่งช่วยต่อยอดเจตนารมณ์ในการพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของยุโรป ในรัฐแซกโซนี ผมขอขอบคุณทางบ๊อชที่ให้ความไว้วางใจในการเลือกที่นี่ เลือกใช้บุคลากร และความก้าวหน้าทางนวัตกรรมของแซกโซนี ผลิตภัณฑ์ที่ก้าวล้ำในยุค IoT และสายการผลิตที่เชื่อมต่อกันนั้นถือเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับธุรกิจไมโครอิเล็กทรอนิกส์ และสำหรับอุตสาหกรรมของยุโรปโดยรวม" มร. สตานิสลอว ทิลลิค มุขมนตรีรัฐแซกโซนี กล่าว
เทคโนโลยีขนาด 12 นิ้ว มาตรฐานแห่งการประหยัดต่อขนาด
เซมิคอนดักเตอร์นับเป็นเทคโนโลยีหลักสำหรับโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะในแวดวงสายการผลิต ธุรกิจการขับเคลื่อน และที่พักอาศัย ซึ่งมีระบบที่เชื่อมต่อกันมากขึ้น ทำงานด้วยระบบไฟฟ้าและระบบอัตโนมัติมากขึ้น ซึ่งกระบวนการผลิตชิพ จะเริ่มต้นด้วยการผลิตซิลิคอนดิสก์ที่เรียกกันว่าเวเฟอร์ ยิ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งสามารถผลิตชิพได้มากขึ้นต่อวงจรการผลิตแต่ละรอบ เมื่อเทียบกับแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ขนาดทั่วไปที่ 6 และ 8 นิ้วแล้ว เทคโนโลยีแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ขนาด 12 นิ้วนับว่าทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพให้บ๊อชสามารถตอบสนองต่อความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีการขับเคลื่อนที่สามารถเชื่อมต่อกัน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับบ้านและเมืองอัจฉริยะ
ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำและผู้บุกเบิกด้านการผลิตเมมส์
เป็นเวลากว่า 45 ปีที่บ๊อชได้ผลิตชิพเซมิคอนดักเตอร์มามากมายหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นวงจรรวมเฉพาะงาน อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำกำลัง และระบบเครื่องกลไฟฟ้าจุลภาคหรือเมมส์ (MEMS) โดยมีการใช้วงจรรวมเฉพาะงานของบ๊อชในยานยนต์ต่าง ๆ มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2513 เป็นวงจรที่มีการปรับให้เหมาะกับการใช้งานแต่ละประเภท และเป็นส่วนสำคัญต่อการทำงานฟังก์ชั่นต่าง ๆ ในรถยนต์ เช่น ระบบถุงลมนิรภัย ในปีพ.ศ. 2559 รถแต่ละคันที่ออกมาจากสายการผลิตทั่วโลก ล้วนติดตั้งชิพของบ๊อชเฉลี่ยมากกว่า 9 ชิ้นต่อคัน
บ๊อชเป็นทั้งผู้บุกเบิกและผู้ผลิตระบบเซนเซอร์เมมส์ชั้นนำของโลก นับเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ ที่บ๊อชได้พัฒนาเทคนิคการผลิตโครงสร้างขนาดเล็กซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั่วโลกในชื่อ "Bosch process" ซึ่งนำไปสู่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน บ๊อชผลิตวงจรรวมเฉพาะงานกว่า 1.5 ล้านชิ้น และเซนเซอร์เมมส์กว่า 4 ล้านชิ้นต่อวัน ที่โรงงานเวเฟอร์แฟบในเมืองรอยต์ลิงเงิน ประเทศเยอรมนี ด้วยมาตรฐานเทคโนโลยีขนาด 6 และ 8 นิ้ว
ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 บ๊อชได้ผลิตเซนเซอร์เมมส์มาแล้วกว่า 8 พันล้านชิ้น ปัจจุบัน ร้อยละ 75 ของเซนเซอร์เมมส์บ๊อช ถูกนำไปใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้านการบริโภคและการสื่อสาร นอกจากนี้ ยังสามารถพบเซนเซอร์เมมส์ของบ๊อชได้ในสมาร์ทโฟน ทุก 3 ใน 4 เครื่อง เซมิคอนดักเตอร์ของบ๊อชจึงเข้าไปเกี่ยวข้องในหลายภาคส่วน ครอบคลุมระบบเซนเซอร์วัดความเร่ง เซนเซอร์จับทิศทาง เซนเซอร์อัตราการไหล และเซนเซอร์วัดสภาพแวดล้อม รวมทั้งไมโครโฟน อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำกำลัง และวงจรรวมเฉพาะงาน เพื่อควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ด้วย