กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปปรับลดลงทุกชนิด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 43.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 44.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 1.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลลดลง 1.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่น (Rig) ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 23 มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 11 แท่น มาอยู่ที่ 758 แท่น เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 23
· บริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบียบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในกรณีพิพาทกับบริษัท Wintershall ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบีย ช่วงวันที่ 1-15 มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้น 50,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 885,000 บาร์เรลต่อวัน และมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากแหล่งผลิต Abu Attifel (กำลังการผลิต 60,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Eni ที่ใช้หน่วยการแปรรูป (Processing Facility) ร่วมกับบริษัท Wintershall ในการผลิต จะสามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง
· ไนจีเรียมีแผนส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 261,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 2.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สูงสุดในรอบ 17 เดือน) จากแหล่งในประเทศ อาทิ น้ำมันดิบ Bonny Light เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 62,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 226,000 บาร์เรลต่อวัน และน้ำมันดิบ Forcados เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 36,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 284,000 บาร์เรลต่อวัน
· รัฐบาลแอลจีเรียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศ ในปี พ.ศ. 2560 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5,000บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 189,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากบริษัท Sonatrach บริษัทน้ำมันแห่งชาติแอลจีเรียเพิ่มงบประมาณลงทุนด้านการผลิตน้ำมัน
· Commodity Future Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบWTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 มิ.ย.60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ลดลง 55,236 สัญญา มาอยู่ที่ 159,859 สัญญา ต่ำสุดในเดือน พ.ย. 59
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ รายงานพายุดีเปรสชั่นเขตร้อน Cindy บริเวณอ่าวเม็กซิโกทำให้การผลิตน้ำมันดิบนอกชายฝั่งบางส่วนของสหรัฐฯ ต้องหยุดชะงัก ปริมาณ 288,000 บาร์เรลต่อวัน (16 % ของปริมาณการผลิตทั้งหมดในอ่าวเม็กซิโก) มาอยู่ที่ระดับ 2.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ในสัปดาห์สิ้นสุด 16 มิ.ย. 60 ลดลง 2.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 509.1 ล้านบาร์เรล
· Reuters รายงานผลการปฏิบัติตามข้อตกลง (Compliance Rate) ของกลุ่ม OPEC และประเทศ Non OPEC ผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ ในเดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ 106% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ข้อตกลงลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเริ่มในเดือน ม.ค. 60 จากอัตราความร่วมมือ (Compliance Rate) ของ OPEC อยู่ที่ 108 % และกลุ่ม Non OPECอยู่ที่ 100 %
· Joint Organization Data Initiative (JODI) รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบีย ในเดือน เม.ย. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 0.27 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 7.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปริมาณสำรองน้ำมันดิบลดลงจากเดือนก่อน 3.93 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 263.93 ล้านบาร์เรล
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปิดปลายสัปดาห์ล่าสุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเงินดอลลาร์อ่อนค่า และวงการทูตคาดว่ากาตาร์อาจปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอของซาอุดีอาระเบีย 13 ข้อ อาทิ ยกเลิกสถานีโทรทัศน์ Al Jazeera และลดระดับความสัมพันธ์กับอิหร่าน เป็นต้น ก่อนกำหนดเส้นตายวันที่ 5 ก.ค. 60 ซึ่งซาอุดีอาระเบียภายใต้การนำของมกุฎราชกุมารMohammed bin Salman มีนโยบายต่างประเทศแข็งกร้าว อย่างไรก็ตามอุปทานน้ำมันในตลาดอยู่ในระดับสูงจากอิหร่านผลิตน้ำมันดิบ ช่วง 1-15 มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีแผนเพิ่มสู่ 4.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค. 61 ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังผู้ผลิตเพิ่มจำนวนแท่นผลิตน้ำมันอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งใช้เทคโนโลยีเก็บและประมวลข้อมูลที่ทันสมัยด้วยกระบวนการ Big Data ล่าสุดบริษัท Ernst & Young รวบรวมข้อมูลบริษัทสำรวจและผลิต (E&P) Shale Oil รายใหญ่ของสหรัฐฯ 75 บริษัทพบว่า 68% ลงทุนด้านData Analytic วงเงินสูงกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และมีแผนใช้งบประมาณ 6-7% สำหรับลงทุนด้าน Digital Technology ขณะที่หน่วยงาน Oil &Gas ของบริษัท GE ระบุ บริษัทขุดเจาะปิโตรเลียมในสหรัฐฯ ติดตั้ง Sensor เก็บข้อมูลการผลิตที่อุปกรณ์ขุดเจาะเพียง 5% จึงลงทุนสร้าง Data Processing Center ขนาดใหญ่เพื่อให้บริการ Digitization ข้อมูลการขุดเจาะน้ำมัน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 44.0-48.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ WTI NYMEX จะอยู่ในกรอบ 42.0-46.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ในกรอบ 43.0-47.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินลดลงจาก Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซิน เดือน พ.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 26.9 % อยู่ที่ 11.8 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ อุปสงค์น้ำมันเบนซินในหลายประเทศลดลง อาทิ Platts รายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินของจีน ที่ไม่รวมการเก็บสำรอง (Apparent Demand) เดือน เม.ย. 60 ลดลงจากปีก่อน 6.1% มาอยู่ที่ 2.71 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ สำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนิเชีย (Statistics Indonesia) รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันเบนซิน เดือน เม.ย. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 29.8 % มาอยู่ที่ระดับ 7.59 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 16 มิ.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.6 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 241.9 ล้านบาร์เรล จาก ส่วนปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินในเอเชียลดลง โดย International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 21 มิ.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.9 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 10.5 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบกว่า 8 เดือน และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 17 มิ.ย.60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.58 ล้านบาร์เรล หรือ 4.64 % อยู่ที่ 11.90 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 55.0-59.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลลดลงจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติของรัสเซีย (Federal Service of State Statistics of Russia ) รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซล สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 มิ .ย. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4% อยู่ที่ระดับ940,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่อุปสงค์น้ำมันดีเซลในจีนเบาบาง หลังจากประกาศห้ามจับปลาในทะเลจีนใต้ระหว่างเดือน พ.ค. - ก.ย. 60 และ อินโดนีเซียนำเข้าน้ำมันดีเซล เดือน เม.ย. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 39.8 % อยู่ที่ 2.91 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 21มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.1 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 12.5 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 17 มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.16 ล้านบาร์เรล หรือ 1.81 % อยู่ที่ 9.15 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามบริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินเดียซื้อน้ำมันดีเซล ส่งมอบเดือน ม.ค.-ก.ค. 60 ปริมาณรวม 7.2 ล้านบาร์เรล ทำลายสถิติสูงสุดเดิมในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค. 54 เนื่องจากสภาพภูมิอากาศแห้งแล้ง กระตุ้นการใช้น้ำมันดีเซลสำหรับการชลประทานและการผลิตกระแสไฟฟ้า ขณะที่โรงกลั่นภายในประเทศปิดปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐาน Euro IV ที่รัฐบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 60 ประกอบกับ Formosa Petrochemical Corp. (FPC) ของไต้หวันมีแผนปิดซ่อมบำรุงหน่วย Crude Distillation Unit (CDU) No. 2 (กำลังการกลั่น 180,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Mailiao (กำลังการกลั่น 540,000 บาร์เรลต่อวัน) ในวันที่ 10 ก.ค. 60 เป็นเวลา3-4 สัปดาห์ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54.0-58.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล