กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--การยางแห่งประเทศไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จับมือคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราทางการแพทย์ ผลิตอุปกรณ์ฝึกสอนการเย็บแผลที่ผลิตจากยางพารา 100 % พร้อมมอบอุปกรณ์รวม 30 ชิ้น แก่นิสิตแพทย์ในการอบรมฝึกทำหัตการและผ่าตัด พร้อมจำหน่ายภายในงาน
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กยท. ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 32 ปี วันคล้ายวันสถาปนา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ณ อำเภอ องครักษ์ จังหวัดนครนายก พร้อมกันนี้ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กยท. ได้สนับสนุนอุปกรณ์ฝึกสอนการเย็บแผลที่ผลิตจากยางพารา ในโครงการอบรมการฝึกทำหัตถการและผ่าตัดด้วยชุดอุปกรณ์จากยางพาราในนิสิตแพทย์ จำนวน 30 ชุด เพื่อใช้ในการทดลองผ่าตัด และเย็บแผล เพราะความยืดหยุ่นจากยางพารา มีความใกล้เคียงผิวหนังมนุษย์ ทำให้นิสิตสามารถทดลองการลงมือผ่าตัดและเย็บแผลจากผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากยางพารา และเกิดความคุ้นชินและทักษะที่เพิ่มมากขึ้นก่อนการผ่าตัดจริงกับมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการสร้างนวัตกรรมวิจัยผลิตภัณฑ์จากยางพาราเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เนื่องจากอุปกรณ์ฝึกหัดการเรียนการสอนทางการแพทย์บางชนิด ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาสูง กยท. เล็งเห็นว่า อุปกรณ์บางชนิด ยางพาราสามารถนำมาผลิตทดแทนได้ ในราคาต้นทุนที่ต่ำกว่า เพื่อให้อุปกรณ์เหล่านี้สามารถเข้าถึงนิสิตนักศึกษาแพทย์ได้อย่างทั่วถึง และเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ กยท. ได้จัดบูธเปิดให้บริการจำหน่ายอุปกรณ์ฝึกผ่าตัดและเย็บแผลจากยางพาราแก่นิสิตแพทย์ ในราคาชุดละ 1,300 บาท ซึ่งประกอบด้วยแผ่นยางพารา มีดผ่าตัด กรรไกร เข็มเย็บแผล และไหมเย็บแผล เพื่อนำไปใช้ในการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ด้วย
ด้านตัวแทนนิสิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ กล่าวว่า ในฐานะนิสิตที่ยังไม่เคยได้เย็บแผลคนไข้จริง ๆ การได้ทดลองฝึกการลงมีดผ่าตัดพร้อมเย็บแผลผ่านแผ่นยางพาราที่มีความยืดหยุ่นสูง จะช่วยให้สามารถเรียนรู้วิธีการเย็บแผลแต่ละชนิดที่มีความแตกต่างกัน ก่อนลงสนามเย็บแผลคนไข้จริง ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจแก่นิสิตแพทย์ได้ เพราะก่อนหน้านี้เคยทดลองฝึกเย็บกับแผ่นหนังเทียม ซึ่งจะมีความยุ่ยและยืดหยุ่นน้อยกว่ายางพารามาก ยางพาราจะมีความเหนียวและยืดหยุ่นได้มากกว่า นอกจากนี้ อยากให้ กยท. สร้างผลิตภัณฑ์ฝึกหัดทางการแพทย์อื่นๆ เช่น หุ่นจำลองจากยางพารา เพื่อให้สามารถฝึกการฉีดยาผ่านทางกระดูกไขสันหลัง เป็นต้น จะช่วยให้นิสิตแพทย์มีความพร้อม ความมั่นใจก่อนลงมือจริง และผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่ผลิตในประเทศ มีราคาถูกกว่าที่นำเข้าจากต่างประเทศ จะช่วยให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงและมีทางเลือกได้มากยิ่งขึ้น