กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--กระทรวงพลังงาน
สำนักงานพลังงานจังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมกับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนรักษ์พลังงาน และเทศบาลตำบลป่าเซ่า ส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะและมูลสัตว์ สร้างพลังงานทดแทนใช้ในชุมชน ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในครัวเรือน แก้ปัญหามลภาวะทางกลิ่นจากขยะและมูลสัตว์ พร้อมสร้างสิ่งแวดล้อมสีเขียว
นางสาวพัฒน์นรี กมลสุรเชษฐ์ พลังงานจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า ชุมชนบ้านห้วยบง ในพื้นที่หมู่ 7 ตำบลป่าเซ่า อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว สุกร โค-กระบือ เป็ด-ไก่ เป็นต้น ซึ่งทำให้ชุมชนประสบปัญหาจากกลิ่นเหม็นของมูลสัตว์ที่ส่งผลกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทางสำนักงานพลังงานจังหวัดอุตรดิตถ์จึงได้ร่วมกับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนรักษ์พลังงาน และเทศบาลตำบลป่าเซ่า ในการจัดทำโครงการบ่อหมักก๊าซชีวภาพ เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพในการเปลี่ยนมูลสัตว์ต่างๆ เป็นพลังงานทดแทนสำหรับใช้ในชุมชน โดยสำนักงานพลังงานจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงพลังงานได้สนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการเพิ่มสมรรถนะด้านการบริหารและจัดการพลังงานครบวงจรในชุมชนระดับตำบลและวิสาหกิจชุมชนชน และงบประมาณภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทน จำนวน 750,000 บาท ในการก่อสร้างบ่อหมักก๊าซชีภาพจำนวน 50 บ่อ กระจายทั่วพื้นที่หมู่ 7 พร้อมเดินระบบท่อส่งก๊าซชีวภาพไปยังครัวเรือนในชุมชนจำนวน 50 หลังคาเรือน
ทั้งนี้ โครงการบ่อหมักก๊าซชีวภาพ มีกำลังการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนรวมทั้ง 50 บ่อ จำนวน 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือเทียบเท่าก๊าซแอลพีจีจำนวน 69 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งผลผลิตดังกล่าวสามารถช่วยให้ครัวเรือนในชุมชนห้วยบงลดใช้ก๊าซแอลพีจึได้ 100% จากปกติที่ 1 ครัวเรือนจะมีปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีอยู่ที่ 4 เดือนต่อ 1 ถัง (ถังละ 15 กิโลกรัม) ปัจจุบัน ครัวเรือนในพื้นชุมชนห้วยบงไม่ต้องพึ่งพาก๊าซแอลพีจีจากภายนอกอีกต่อไป
"แม้ว่าของเสียจากมูลสัตว์ต่างๆ จะสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมในชุมชน แต่ในมุมกลับกันก็มีศักยภาพที่จะแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทนได้ สำนักงานพลังงานจังหวัดอุตรดิตถ์จึงได้ส่งเสริมให้นำมาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ จึงได้สนับสนุนให้เกิดโครงการบ่อหมักก๊าซชีวภาพขึ้นมา โดยมีเป้าหมายหลักคือ ช่วยลดรายจ่ายค่าก๊าซแอลพีจีและสนับสนุนให้ชุมชนตระหนักถึงการพึ่งพาแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพในชุมชนแทนการการพึ่งพาพลังงานจากแหล่งภายนอก ช่วยลดกลิ่นรบกวนชุมชนที่เกิดจากมูลสัตว์ เปลี่ยนมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมให้เป็นชุมชนสีเขียว และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนในชุมชน ตลอดจนเกิดผลพลอยได้เป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพอัดแท่งจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ได้อีกด้วย" พลังงานจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าว