กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นอกจากมาตรการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ในการอนุมัติและขยายระยะเวลา 4 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยางครัวเรือนละ 1,500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 15 ไร่ต่อครัวเรือน 2. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพาราภายใต้แนวทางยางพาราทั้งระบบ 3. โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และ โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง และ 4. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่สถานการณ์ราคายางมีความผันผวน ส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกรสามารถรวบรวมยางพารา และเพิ่มสภาพคล่องในการทำธุรกิจให้มีความเข้มแข็งแล้ว
กระทรวงเกษตรฯ โดยการยางแห่งประเทศไทย ยังได้เร่งดำเนินมาตรการด้านการผลิต ในการส่งเสริมให้โค่นยางพาราปีละ 4 แสนไร่ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานให้เกิดขึ้นกับตลาดโลก พร้อมทั้งการสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการในการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปยาง และยกระดับมาตรฐานองค์กรด้านอุตสาหกรรมยางให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน GMP/GAP โดยมีเป้าหมายจะผลักดันสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจำนวน 32 กลุ่มทั่วประเทศ เพื่อให้ขาย ผลผลิตได้ราคาสูงขึ้น เพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตยางพารา และเพิ่มอำนาจต่อรองทางการค้ากับผู้ซื้อ ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบตลาดยางพาราประเภทต่างๆ ได้แก่ ตลาดน้ำยางสดในพื้นที่ชายแดนใต้ 452 กลุ่ม ตลาดยางพาราระดับท้องถิ่นของ กยท. จำนวน 108 แห่งทั่วประเทศ และตลาดกลางยางพาราอีก 6 แห่ง ซึ่งกำลังเร่งดำเนินการเชื่อมโยงของตลาดต่างๆ ตั้งแต่ตลาดระดับท้องถิ่น กยท. ทั่วประเทศ สู่ตลาดกลางยางพารา ไปจนถึงตลาดยางระดับประเทศ อย่างเช่นตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค (RRM) ซึ่งเป็นตลาด 3 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่จะช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตยางพาราของชาวสวนยางซึ่งจะเป็นการซื้อขายยางแท้จริง นอกจากการซื้อขายบนกระดาษในตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าด้วย
สำหรับการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศนั้น ในวันนี้ได้เรียกประชุม 8 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงท่องเที่ยวฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กรุงเทพมหานคร และกระทรวงเกษตรฯ เพื่อหารือถึงแนวทางส่งเสริมการนำยางประเภทต่างๆ ไปใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และพัฒนาระบบสาธารณูปโภคภายในประเทศรวมทั้งสิ้น 28,692.12 ตัน ซึ่งคาดว่าในปีต่อไป หน่วยงานต่างๆ ในประเทศ สามารถนำยางพาราไปใช้เพื่อทำถนน ปูพื้น หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ก็ตามที่ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว จะเป็นโอกาสในการเพิ่มปริมาณการใช้ยาง และส่งเสริมการนำยางพาราไปใช้ให้เกิดประโยชน์ภายในประเทศให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม นอกจากมาตรการข้างต้นที่กระทรวงเกษตรฯ กำลังเร่งดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางแล้ว ล่าสุดยังได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานภายใต้ พรบ.ควบคุมยาง พ.ศ.2542 โดยมอบหมายให้ กยท.เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พรบ.ควบคุมยาง 2542 ซึ่งจะทำงานร่วมกับกรมวิชาการเกษตรในการตรวจสอบปริมาณยางในสต็อค การนำเข้าและส่งออกยาง หรือที่เกี่ยวข้องกับพรบ.ฉบับนี้ ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของปริมาณยางในตลาดที่มีอยู่จริง ป้องกันปัญหาการบิดเบือนข่าว การกักตุนสินค้าหรือทุบราคายางได้
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท. ได้วางมาตรการระหว่างประเทศในการร่วมประชุมกับคณะกรรมการด้านกลยุทธ์การตลาดครั้งพิเศษ (CSMO) เพื่อเร่งกำหนดมาตรการทางการตลาดที่มีต่อสถานการณ์ราคายางในปัจจุบัน ในวันที่ 17-18 มิ.ย.นี้ ณ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมาตรการที่แก้ไขปัญหาเป็นความร่วมมือของประเทศผู้ส่งออกระดับโลก เช่น ข้อตกลงเรื่องการจำกัดการส่งออก แต่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 3 ประเทศร่วมกัน เป็นต้น เพื่อหาแนวทางการสร้างเสถียรภาพราคายาง และแก้ไขสถานการณ์ราคายางในปัจจุบันอย่างไรก็ตาม มุมมองของต่างชาติมองว่าดีมานต์และซัพพลายในตลาดปัจจุบันค่อนข้างสมดุลกันแต่ประเด็นราคา อาจเกิดจากการให้ข่าว ที่ส่งผลต่อสภาวการณ์ของตลาดล่วงหน้าอย่างมาก นอกจากนี้กยท. ได้ผลักดันสินค้ายางพาราไทยเกรดพรีเมี่ยมมาตรฐาน GMP สู่ตลาดยุโรป โดยจัดทำแผนบริหารจัดการผลผลิตยางในประเทศ เตรียมเปิดตลาดยาง GMP ไปยังกลุ่มประเทศยุโรปปลายปีนี้มุ่งเน้นสร้างตลาดใหม่ให้แก่เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับรองผลผลิตตามมาตรฐาน GMP ในเวที ISO/TC 45 Rubber and Rubber Products เป็นการยกระดับมาตรฐานการผลิตยางของเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง รวมทั้ง เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่มีมาตรฐานสู่ระดับสากล