กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--กรมสุขภาพจิต
เช้าวันนี้ (15 มิ.ย.2560) นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วย นพ.มนตรี นามมงคล ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 คณะผู้บริหาร สื่อมวลชนส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ลงพื้นที่ชุมชน ต.แม่ปูคา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เยี่ยมเยียนและชมผลงานด้านสุขภาพจิตชุมชนดีเด่น ณ รพ.สต.บ้านป่าสักน้อย โดยมี นายทรงศักดิ์ มูลสัก รองนายกเทศมนตรีตำบลแม่ปูคา พร้อมทีมผู้บริหาร ผอ.รพ.สต.บ้านป่าสักน้อย นางจิดาภา อิ่นแก้ว อสม.ดีเด่น สาขาสุขภาพจิตชุมชน ระดับประเทศ นายสัมฤทธิ์ นามแสง กำนัน ต.แม่ปูคา อ.สันกำแพง อาสาสมัครสาธารณสุข และประชาชน ต.แม่ปูคา ให้การต้อนรับ
นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าชุมชน ต.แม่ปูคา เป็นชุมชนต้นแบบด้านสุขภาพจิต ที่เกิดจากการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน อาศัยกลไกตำบลจัดการสุขภาพ ที่มีกลไกระบบสุขภาพระดับอำเภอ เป็นพื้นฐานรองรับให้สามารถดำเนินงานได้อย่างเป็นระบบ และดำเนินการได้จริงตามปัญหาสุขภาพจิตและสภาพบริบทของพื้นที่ในทุกกลุ่มวัย ควบคู่ไปกับการดำเนินงานสุขภาพทางกาย ให้ชุมชนสามารถดูแลกันเองได้ และสามารถอยู่ร่วมกันได้กับผู้ป่วยทางจิต ทั้งนี้ ในเขตสุขภาพที่ 1 ประกอบด้วย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน) มีผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและผู้ป่วยจิตเวชทั้งแบบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ประมาณ 3 แสนกว่าคน จากประชากรประมาณ 5.6 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เช่น ยาบ้า รองลงมา คือ โรคประสาท โรคจิตเภท ความผิดปกติทางอารมณ์ และเสพติดสุรา เป็นต้น ซึ่งในชุมชน ต.แม่ปูคานี้ มีผู้ป่วยจิตเวช 17 คน ใน 9 หมู่บ้าน จากประชากรประมาณ 5,800 คน โดยทั้งหมดได้รับการดูแลและรับยาต่อเนื่อง ด้วยการบูรณาการงานร่วมกัน สะท้อนถึงการเป็นชุมชนที่เข้มแข็งได้เป็นอย่างดี
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ความโดดเด่นของชุมชนนี้จึงอยู่ที่ระบบการเฝ้าระวัง ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตทุกกลุ่มวัย โดยชมรมอุ่นใจ ที่เกิดจากการตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนร่วมกัน ทั้งจากเจ้าอาวาส กำนันผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล โรงเรียน รพ.สต. และ อสม. จากทุกหมู่บ้านใน ต.แม่ปูคา รวมทั้ง ชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัย จ.เชียงใหม่ การดำเนินงาน มีทั้งการตรวจประเมินพัฒนาการเด็กแรกเกิด-5 ปี ด้วยคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย หรือคู่มือเล่มขาว (DSPM) เน้นเฝ้าระวังเด็กพัฒนาการล่าช้า มีกิจกรรมกระตุ้นโดยการใช้อุปกรณ์ที่มีในครอบครัว ส่งเสริมสุขภาพจิตให้กับชุมชน ดูแลและคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ญาติ และผู้ดูแล ด้วยแบบคัดกรอง 2Q และการเยี่ยมบ้านร่วมกับ อสม. ตลอดจนมีการคิดค้นนวัตกรรมแก้ปัญหาผู้ป่วยขาดยาและไม่มาพบแพทย์ตามนัด เป็นต้น ที่สำคัญ ดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องจนส่งกลับคืนสู่สังคม สามารถหาเลี้ยงชีพ และใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างปกติสุข
"กระบวนการดูแลและรักษาผู้ป่วยจิตเวชนั้น หลักสำคัญ คือ ต้อง 3 ประสาน ได้แก่ โรงพยาบาล ครอบครัวและชุมชน ที่ต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ ไม่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วย ให้การยอมรับ และให้โอกาสกับพวกเขา เข้าถึงบริการด้านการรักษาอย่างต่อเนี่อง เพราะโรคทางจิตเวชทุกโรครักษาได้ เช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ต้องรักษาต่อเนื่อง ไม่ขาดยาหรือลดยาเอง ที่สำคัญ ไม่ใช้สารเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการทางจิตขั้นรุนแรง การลงพื้นที่ชุมชนในครั้งนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องการให้สังคมภายนอกได้เห็นถึงพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงศักยภาพของผู้ป่วยที่พร้อมกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคม สามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนและสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี พึ่งพาตนเองได้ และเป็นภาระต่อผู้อื่นน้อยที่สุด" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ด้าน นพ.มนตรี นามมงคล ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการดำเนินงานสุขภาพจิตในชุมชน ศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 ได้พัฒนา อสม.ต้นแบบสุขภาพจิตชุมชนจากในระดับจังหวัด ของ จ.เชียงใหม่ โดยเน้นการบูรณาการระหว่างงานส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตามกลุ่มวัยและการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช นอกจากนี้ ได้อบรมแกนนำและอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยทางจิตเพื่อให้สามารถดูแลกันได้ในชุมชน และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมดูแลผู้ป่วยทางจิต ขณะที่ การดูแลสุขภาพจิตชุมชนในระยะยาว ( LTMHC : Long Term Mental Health Care) จะใช้แนวทางการสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วม พัฒนาผู้นำและทีมในการดำเนินงาน สร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม พัฒนาการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ตลอดจน สร้างพลังในชุมชน โดยการเสริมสร้างความรู้