กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--กรมประมง
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ณ ท่าเทียบเรือหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเล สมุทรปราการ ตำบลบางพึ่ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ กรมประมงจัดพิธีประกาศปิดอ่าวไทยรูปตัว ก ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ บางส่วนของประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และบางส่วนของชลบุรี โดยแบ่งระยะเวลาการปิดอ่าวตัวก ออกเป็น 2 ช่วง คือ (1) ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน – 15 สิงหาคมของทุกปี และ (2) ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายนของทุกปี ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับวันที่ 9 มิถุนายน 2560
นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการที่กรมประมง ได้ทดลองประกาศปิดอ่าวไทยตอนในรูปตัว ก นำร่อง 3 ปี (พ.ศ. 2557 – 2559) ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ในห้วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม ของทุกปีนั้น ปรากฏว่าผลการศึกษาและเก็บข้อมูลทางวิชาการ ระหว่างปี 2557 - 2559 พบว่าในช่วงก่อนมาตรการ ปลาทูและสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญหลายชนิด มีขนาดเล็ก ยังไม่สามารถสืบพันธุ์วางไข่ได้
ถ้าจับสัตว์น้ำขนาดเล็กเหล่านี้จะส่งผลให้ประชากรสัตว์น้ำลดจำนวนลง เช่น ปลาทูที่พบในเขตอ่าวไทยรูปตัว ก ฝั่งตะวันตก (พื้นที่ปิดอ่าวช่วงที่ 1) มีขนาดเฉลี่ย 13 – 14 เซนติเมตร หรือที่ชาวประมงเรียก ปลาสาว ยังไม่สามารถสืบพันธุ์วางไข่ได้ จากนั้น ปลาทูกลุ่มนี้จะอพยพเข้ามาอาศัยในพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก ตอนเหนือ (พื้นที่ปิดอ่าวช่วงที่ 2) พบขนาดเฉลี่ย 15 – 17 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าเป็นแม่ปลาที่พร้อมผสมพันธุ์และจะกลับลงไปวางไข่ในแหล่งวางไข่บริเวณอ่าวไทยตอนกลาง นอกจากนี้ สัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน สัตว์น้ำขนาดเล็กจะมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นหลังจากเปิดอ่าว นั่นแสดงให้เห็นว่าการทดลองนำร่อง 3 ปีที่ผ่านมา ผลทางวิชาการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวตัว ก ในการอนุรักษ์สัตว์น้ำที่ยังมีขนาดเล็กให้เจริญเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์และให้มีโอกาสได้แพร่ขยายพันธุ์ต่อไป ประกอบกับพื้นที่ในการควบคุมตามประกาศปิดอ่าวไทยตอนในรูปตัว ก ใน 8 จังหวัด มีความเหมาะสมเนื่องจากบริเวณนี้มีแหล่งอาหาร และทรัพยากรสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งที่เหมาะสมกับวงจรชีวิตของสัตว์น้ำ โดยในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายนของทุกปี จะเป็นห้วงเวลาที่มีสัตว์น้ำขนาดก่อนเริ่มสืบพันธุ์อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก จึงควรคุ้มครองสัตว์น้ำเหล่านี้มิให้ถูกจับหรือถูกทำลายก่อนวัยอันควร เพื่อเป็นการเพิ่มทั้งขนาดและมูลค่ารวมทั้งร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรให้อยู่ถึงลูกหลานสืบไป
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 71 (1) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ออกประกาศ ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2560 เรื่อง ห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ในระยะเวลาที่กำหนด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ระยะเวลาและพื้นที่ที่ห้ามทำการประมง แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่
ช่วงที่ 1: ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – 15 สิงหาคม ของทุกปี ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ฝั่งตะวันตกบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร โดยเริ่มจากอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสิ้นสุดที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
ช่วงที่ 2 : ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน ของทุกปี ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ด้านเหนือบางส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยเริ่มจากอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และสิ้นสุดที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
สำหรับเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามตามประกาศฉบับนี้ ได้แก่
1. เครื่องมืออวนล้อมจับที่ใช้ประกอบเรือกล
2. เครื่องมืออวนลากที่ใช้ประกอบเรือกล ยกเว้นเครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ที่ใช้ประกอบกับเรือกลลำเดียวขนาดต่ำกว่ายี่สิบตันกรอสทำการประมงในเวลากลางคืน (เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น)
3. เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรือ อวนยก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำการประมงปลากะตัก
4. เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบกับเรือกลทำการประมงด้วยวิธีล้อมติดปลาทูหรือด้วยวิธีอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน
5. เครื่องมืออวนติดตาจับปลาทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเรือกลทำการประมง ยกเว้นการใช้เครื่องมืออวนติดตาจับปลาที่มีช่องตาอวน ตั้งแต่ 5 เซนติเมตรขึ้นไป ความยาวอวนไม่เกิน 2,000 เมตร ที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดต่ำกว่าสิบตันกรอสทำการประมง
บทกำหนดโทษ หากชาวประมงรายใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาท ถึง 30 ล้านบาท
ตามขนาดของเรือประมง หรือปรับ 5 เท่า ของมูลค่าสินค้าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า และเครื่องมือ สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สินค้าสัตวน้ำ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ในการกระทำผิด หรือได้มาโดยการกระทำผิดจะถูกริบ
ทั้งนี้ การออกประกาศฯ ดังกล่าว ได้ผ่านการหารือจากชาวประมงและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การกำหนดมาตรการเป็นไปอย่างเหมาะสม เกิดผลกระทบกับชาวประมงน้อยที่สุด และส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน
สำหรับพิธีประกาศปิดอ่าวตัว ก. ในวันนี้ เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ชาวประมง ประชาชนในท้องถิ่นเดินทางมาร่วมเป็นสักขีพยานในการประกาศปิดอ่าวตัว ก. และได้ร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พร้อมประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรประมง ซึ่งกรมประมง หวังว่าการดำเนินการตามมาตรการปิดอ่าวตัว ก. จะช่วยปลูกจิตสำนึกรักษ์และหวงแหนในทรัพยากรสัตว์น้ำให้กับสังคมไทย สุดท้าย ขอฝากชาวประมงทุกท่านโปรดปฏิบัติตามกฎระเบียบ และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ มิใช่เพื่อประโยชน์ของคนหนึ่งคนใด แต่เป็นประโยชน์ของพวกเราและลูกหลานของเราทุกคนที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืนตลอดไป