กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 จังหวัดนครสวรรค์ ลงพื้นที่สำรวจบัญชีสมดุลข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จังหวัดนครสวรรค์ พบว่าปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ลานตากในจังหวัดนครสวรรค์รับซื้อ เป็นผลผลิตที่เพาะปลูก ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ร้อยละ 69.31 และรับซื้อจากจังหวัดอื่น ร้อยละ 30.69 โดยผลผลิตถูกส่งไปยังโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ จังหวัดนครปฐม และลพบุรี เนื่องจากนครสวรรค์ยังไม่มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์หรือแปรรูปผลผลิตจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย แต่มีปัญหาด้านราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หนึ่งในแนวทางที่จะแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร คือ การทำบัญชีสมดุลของสินค้าเกษตร เพื่อใช้เป็นแนวทางใน การบริหารจัดการปริมาณการผลิตไม่ให้มีมากเกินความต้องของตลาดและการบริโภค หรือเพิ่มความต้องการใช้ให้สอดคล้องกับปริมาณการผลิตที่มีมากขึ้น
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 จังหวัดนครสวรรค์ (สศท.12) จึงได้ดำเนินการศึกษาบัญชีสมดุลสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ของจังหวัดนครสวรรค์ โดยลงพื้นที่สำรวจ เก็บข้อมูลบัญชีสมดุลข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัด พบว่า เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์ลูกผสมเอกชน เช่น 888 999 339 และ7979 เป็นต้น ไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองได้ ต้องซื้อจากร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์หรือพ่อค้าที่สนับสนุนการเพาะปลูก โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพาะปลูกในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ คิดเป็นร้อยละ 69.31 ของปริมาณผลผลิตที่ลานตาก/ไซโลจังหวัดนครสวรรค์รับซื้อ ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่นำเข้าจากจังหวัดอื่น คิดเป็นร้อยละ 30.69 ได้แก่ จังหวัดลพบุรี คิดเป็นร้อยละ 0.79 และมาจากพ่อค้ารวบรวม จังหวัดตาก จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดน่าน คิดเป็นร้อยละ 29.90
เกษตรกรเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จะขายให้กับลานตากรับซื้อ/ไซโลโดยตรง คิดเป็นร้อยละ 61.13 มีพ่อค้ารายย่อยรวบรวมให้กับลานตากรับซื้อ/ไซโล คิดเป็นร้อยละ 8.18 โดยลานตากและไซโลที่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่จะทำการตากและคัดเมล็ดเพื่อส่งขายนอกจังหวัดนครสวรรค์ ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดนครสวรรค์ ยังไม่มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์หรือแปรรูปผลผลิตจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตทั้งหมดจึงส่งไปยังโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ จังหวัดนครปฐม และลพบุรีแทน
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ ภาครัฐ เกษตรกร และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ระดับประเทศ ต้องร่วมกันวางแผนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ป้องกันปัญหาผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกินความต้องการของตลาดในประเทศ ท่านที่สนใจข้อมูลผลการสำรวจ สามารถขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมและคำแนะนำได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 โทร. 056 803 525 หรือ อีเมล zone12@oae.go.th