กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--ซีพีเอฟ
นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ (ที่ 3 จากซ้าย) อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมกับนายประพจน์ โชคพิชิตชัย (ที่ 2 จากซ้าย) รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ เปิด "โครงการฝึกวิชาชีพการทำธุรกิจขนาดเล็กการจำหน่ายเนื้อสุกร : นายสะอาดขายหมู" นำร่องใน 4 เรือนจำ เขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เพื่อให้ผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษได้เรียนรู้ทักษะความชำนาญในอาชีพค้าขาย พร้อมสนับสนุนให้กลายเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้จริงหลังพ้นโทษ ร่วมด้วย นางพรทิพย์ โชคสมัย (ที่ 3 จากขวา) ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพฤตินิสัย
นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า กรมราชทัณฑ์มีภารกิจสำคัญในการแก้ไขฟื้นฟูและพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง นอกจากพัฒนาในด้านจิตใจ การส่งเสริมความรู้ พัฒนาความคิด และสร้างทัศนคติที่ดีให้กับผู้ต้องขังแล้ว ภารกิจที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การสร้าง ส่งเสริม และพัฒนาอาชีพให้กับผู้ต้องขัง ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เน้นให้กรมราชทัณฑ์พัฒนาผู้ต้องขังให้สามารถมีงานทำภายหลังพ้นโทษ จึงมีนโยบายในการสร้างอาชีพแก่ผู้ต้องขังภายในแนวคิด "หนึ่งคนหนึ่งทักษะ" โดยการจัดการฝึกวิชาชีพให้ทุกคนมีทักษะฝีมือ มีความรู้ความสามารถอย่างน้อยคนละ 1 ทักษะ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงาน และมีวิชาชีพติดตัวไปใช้ในการดำเนินชีวิตภายหลังพ้นโทษ สำนักพัฒนาพฤตินิสัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้จัดให้มีการฝึกวิชาชีพรูปแบบต่างๆ อาทิ การฝึกวิชาชีพด้านการทำอาหารและเครื่องดื่ม ด้านงานบริการนวด เสริมสวย ล้างรถ และด้านเกษตรกรรม ปศุสัตว์
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่า ในปีนี้ได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาพฤตินิสัยขยายรูปแบบการจัดการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังให้หลากหลายขึ้น โดยร่วมมือกับซีพีเอฟจัดทำ "โครงการฝึกวิชาชีพการทำธุรกิจขนาดเล็กการจำหน่ายเนื้อสุกร : นายสะอาดขายหมู" เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถวางแผนการทำธุรกิจของตนเอง มีความรู้ในด้านการบริหารจัดการและบัญชีการเงินเบื้องต้น สามารถที่จะเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กภายหลังพ้นโทษได้ เนื่องจากในความเป็นจริงแล้วการที่ผู้พ้นโทษจะสามารถประกอบอาชีพอิสระของตนเองได้นั้น นอกจากความรู้และทักษะในการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายแล้ว องค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการ การตลาด บัญชีการเงิน เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สามารถวางแผนการประกอบอาชีพของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จ
"โครงการนี้นับเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่กรมราชทัณฑ์ได้ส่งเสริมและพัฒนาผู้ต้องขังอย่างเป็นรูปธรรม ขอขอบคุณซีพีเอฟที่ให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนวิทยากร และตู้จำหน่ายเนื้อสุกรสำหรับการฝึกวิชาชีพตามโครงการนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการจะได้มีโอกาสในการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะอาชีพที่จำเป็นในการเป็นผู้ประกอบการผ่านการจำหน่ายเนื้อสุกรปลอดภัยปลอดสารจากผู้ผลิตมาตรฐาน และมีโอกาสที่จะปรับตัวก่อนการปล่อยตัวพ้นโทษในระยะเวลาอันใกล้นี้" อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว
ด้าน นางพรทิพย์ โชคสมัย ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพฤตินิสัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการให้ความรู้ทางอาชีพแก่ผู้ต้องขัง นอกจากการมุ่งเน้นทักษะและความรู้ในการทำงานในหน่วยงานหรือสถานประกอบการต่างๆแล้ว กรมราชทัณฑ์ยังเน้นให้ผู้ต้องขังสามารถประกอบอาชีพอิสระในลักษณะเป็นเจ้าของธุรกิจของตนเองได้อีกด้วย จากข้อมูลกรมสังคมสงเคราะห์ กรมราชทัณฑ์ พบว่าในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 มีผู้พ้นโทษที่ยินยอมเปิดเผยข้อมูลสามารถไปประกอบอาชีพภายหลังพ้นโทษจำนวน 5,495 คน สำหรับการฝึกวิชาชีพดังกล่าว เริ่มดำเนินการในเรือนจำนำร่อง 4 แห่งได้แก่ เรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำกลางสมุทรปราการ เรือนจำพิเศษมีนบุรี และเรือนจำอำเภอธัญบุรี โดยคัดเลือกผู้ต้องขังที่มีโทษเหลือจำคุกต่อไปไม่เกิน 2 ปี ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตชุมชน สุขภาพอนามัยดี มีความสนใจที่จะประกอบอาชีพจำหน่ายเนื้อสุกร เรือนจำละ 20 คน รวม 80 คน เข้าร่วมโครงการนายสะอาดขายหมู
"ผู้ต้องขังจะเข้ารับการการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในระยะเวลา 2 วัน จากวิทยากรของซีพีเอฟที่สอนกระบวนการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ ร่วมกับวิทยากรจากสำนักพัฒนาพฤตินิสัย หลังจากอบรมผู้ต้องขังจะได้ฝึกฝนทักษะการเป็นผู้ประกอบการ การจัดการ และการจำหน่ายเนื้อสุกรให้กับประชาชนทั่วไปในร้านสวัสดิการของเรือนจำ สุดท้ายสำนักพัฒนาพฤตินิสัย และกองสังคมสงเคราะห์ฯ ร่วมกับซีพีเอฟจะสนับสนุนช่องทางในการประกอบอาชีพผู้ประกอบการขนาดเล็กภายหลังพ้นโทษต่อไป" ผอ.สำนักพัฒนาพฤตินิสัย กล่าว
นายประพจน์ โชคพิชิตชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟมีนโยบายการผลิตอาหารปลอดภัยตามมาตรฐานสากลเพื่อผู้บริโภคตามวิสัยทัศน์ "ครัวของโลก" เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการผลิตสินค้าปศุสัตว์ให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาบริษัทมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมาโดยตลอด โดยเฉพาะการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายเนื้อสัตว์ปลอดภัยถึงมือผู้บริโภคในทุกชุมชน ด้วยการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีร้านค้าจำหน่ายของชำในชุมชนอยู่แล้วหรือผู้สนใจทั่วไป ได้จำหน่ายเนื้อหมูสด สะอาด ปลอดภัย และสินค้าปศุสัตว์อื่นๆ จากผู้ผลิตถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ผ่านร้านตู้หมูชุมชน CP-Pork Shop
"เมื่อทราบว่ากรมราชทัณฑ์จัดโครงการฝึกอาชีพแก่ผู้ต้องขัง บริษัทยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมเสริมสร้างทักษะอาชีพและสนับสนุนโครงการฝึกวิชาชีพผู้ประกอบการขนาดเล็กจำหน่ายเนื้อสุกรนี้ โดยมีการอบรมในการปรับทัศนะคติและสร้างแรงจูงใจในการประกอบอาชีพ เทคนิคการทำธุรกิจขนาดเล็ก การวางแผนด้านบัญชีการเงิน เทคนิคการจำหน่ายสินค้า การเตรียมสถานที่และความพร้อมด้านการดำเนินการ บุคลิคภาพและสุขอนามัย นอกจากการสร้างอาชีพแก่ผู้ต้องขังแล้วยังถือเป็นการเปิดโอกาสให้ซีพีเอฟได้มีส่วนร่วมยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อผู้บริโภคอย่างกว้างขวางขึ้นด้วย" นายประพจน์ กล่าว