กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรรู้เกี่ยวกับการเลือกใช้ ตรวจสอบ และดูแลรักษายางรถยนต์อย่างถูกวิธี โดยเลือกใช้ยางที่เหมาะกับสภาพรถ มีรุ่นและขนาดเดียวกันทั้ง 4 เส้น มีขนาดพอดีกับเส้นรอบวงของยาง กรณีใช้งานบนถนนเรียบ ควรใช้ยางที่มีดอกยางละเอียด กรณีใช้งานบนถนนขรุขระ ควรใช้ยางที่มีดอกยางขนาดใหญ่ และร่องยางห่าง หมั่นตรวจสอบแรงดันลมยางด้วยเกจ์วัดลมยางที่ได้มาตรฐานอยู่เสมอ พร้อมเติมแรงดันลมยางตามค่ามาตรฐานที่กำหนดในขณะที่ยางเย็นตัว รวมถึงสลับยางรถยนต์ทุกระยะทาง 10,000 กิโลเมตร พร้อมหมั่นตรวจสอบระบบช่วงล่าง และตั้งศูนย์ถ่วงล้อให้สมดุล เพื่อป้องกันแรงเสียดทาน และการลื่นไถล ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ยางรถยนต์เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ส่งผลต่อความปลอดภัยในการเดินทาง ซึ่งบ่อยครั้งมักเกิดอุบัติเหตุยางระเบิดที่มีสาเหตุจากยางเสื่อมสภาพ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรรู้เกี่ยวกับการเลือกใช้ ตรวจสอบ และดูแลรักษายางรถยนต์ ดังนี้ การเลือกใช้ยางรถยนต์ เลือกใช้ยางที่เหมาะกับสภาพรถ สถาพการใช้งาน และสภาพเส้นทาง รวมถึงมีขนาดเดียวกับยางที่ติดมากับรถ เลือกใช้ยางที่มีรุ่นและขนาดเดียวกันทั้ง 4 เส้น โดยเปลี่ยนยางทุกๆ 2 ปี หรือทุกระยะทาง 50,000 กิโลเมตร เลือกใช้ยางที่มีขนาดพอดีกับเส้นรอบวงของยาง โดยมีขนาดใกล้เคียงกับมาตรฐานเดิม หรือขนาดของล้อแม็ก หากเปลี่ยนเป็นล้อเล็ก ให้เพิ่มขนาดแก้มยาง แต่หากเป็นล้อใหญ่ ให้ลดขนาดแก้มยาง กรณีใช้งานบนถนนเรียบ ควรใช้ยาง ที่มีดอกยางละเอียด ร่องยางแคบและถี่ เพื่อเพิ่มพื้นผิวสัมผัสกับหน้าถนน จะช่วยยึดเกาะถนน และมีประสิทธิภาพในการรีดน้ำมากขึ้น กรณีใช้งานบนถนนขรุขระ หรือลุยโคลน ควรใช้ยางที่มีดอกยางขนาดใหญ่ และร่องยางห่าง เพื่อช่วยสกัดโคลน หิน หรือน้ำไม่ให้เข้าไปติดตามดอกยาง และร่องยาง การเติมแรงดันลมยางรถยนต์ หมั่นตรวจสอบแรงดันลมยางอยู่เสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือประมาณเดือนละครั้ง กรณีเดินทางไกล ควรเติมลมยางให้มากกว่าปกติ 3 – 5 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ตรวจสอบแรงดันลมยางด้วยเกจ์วัดลมที่ได้มาตรฐาน ไม่ควรตรวจสอบด้วยสายตา เพราะอาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้ เติมแรงดันลมยางอะไหล่ให้พร้อมใช้งาน ลมยางมากกว่ามาตรฐาน 3 – 4 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน จะได้นำมาใช้งานได้ทันที โดยลดค่าแรงดันลมยางให้อยู่ในค่าปกติ เติมแรงดันลมยางตามค่ามาตรฐานที่กำหนดในขณะที่ยางเย็นตัว จะได้ค่าแรงดันลมยางที่ถูกต้อง หากเติมหลังขับรถหรือในขณะที่ยางยังมีความร้อน จะได้ค่าแรงดันลมยางสูงกว่าปกติ ไม่เติมแรงดันลมยางต่ำกว่ามาตรฐาน เพราะหน้ายางจะยุบตัว และสัมผัสพื้นผิวถนนมากกว่าปกติ ทำให้แก้มยางฉีกขาด ไหล่ยางเกิดความร้อนสูง และสึกหรอเร็วกว่าส่วนอื่น รวมถึงส่งผลให้พวงมาลัยบังคับยากขึ้น ไม่เติมแรงดันลมยางมากกว่าปกติ เพราะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนน ทำให้เสี่ยงต่อการลื่นไถลออกนอกเส้นทาง และเมื่อได้รับแรงกระแทกจะทำให้ยางระเบิดได้ง่าย รวมถึงส่งผลให้ช่วงล่างรถยนต์สึกหรอเร็วขึ้น การดูแลรักษายางรถยนต์ สลับยางรถยนต์ทุกระยะทาง 10,000 กิโลเมตร จะช่วยลดการสึกหรอ และทำให้หน้ายางเรียบเสมอกันทั้ง 4 เส้น พร้อมปรับแรงดันลมยางของล้อหน้า และล้อหลังให้มีค่ามาตรฐานตามที่กำหนดหมั่นตรวจสอบระบบช่วงล่าง และตั้งศูนย์ถ่วงล้อให้สมดุล เพื่อป้องกันแรงเสียดทาน และการลื่นไถล รวมถึงการกระจายน้ำหนักที่ไม่สมดุล ทำให้ยางได้รับความเสียหายได้ ทั้งนี้ การเลือกใช้ยางรถยนต์ให้เหมาะสม กับการใช้งาน และสภาพเส้นทาง การเติมแรงดันลมยางตามค่ามาตรฐานที่กำหนด การหมั่นตรวจสอบและดูแลรักษายางอยู่เสมอ จะช่วยยืดอายุการใช้งานของยาง และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุยางระเบิด