กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจัดทำแผนบูรณาการความร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมตรวจสถานประกอบกิจการชำแหละสัตว์ปีกทั่วประเทศ ป้องกันและแก้ไขปัญหาการประสบอันตรายจากการทำงาน เริ่มตรวจในพื้นที่กรุงเทพมหานครทันที
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีนักศึกษาเข้าดูงานด้านสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบกิจการชำแหละสัตว์ปีกและตกลงไปในบ่อน้ำเสียจนเสียชีวิตพร้อมลูกจ้างที่เข้าให้ความช่วยเหลืออีก 4 คน ในเรื่องนี้ พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ไม่อาจให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อีก จึงสั่งการให้ กสร. เข้าหารือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการประสบอันตรายจากการทำงานเพื่อไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก โดยนายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ร่วมหารือและกำหนดแนวทางที่จะร่วมกันตรวจด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการชำแหละสัตว์ปีกทั่วประเทศ โดยจะเริ่มตรวจในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครในทันที สำหรับสถานประกอบกิจการชำแหละสัตว์ปีกในส่วนภูมิภาคจะได้มอบให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแต่ละจังหวัดร่วมหารือจัดทำแผนและเข้าดำเนินการตรวจสถานประกอบกิจการประเภทนี้ร่วมกันให้ครอบคลุมทั่วประเทศ หากพบจุดบกพร่องหรือไม่มีมาตรการป้องกันความปลอดภัยที่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ให้ออกคำสั่งดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลสภาพปัญหาที่พบมาดำเนินการวิเคราะห์กำหนดเป็นแนวทางและวิธีการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุมิให้เกิดขึ้นอย่างถาวร ทั้งนี้จะได้บูรณาการความร่วมมือตรวจสถานประกอบกิจการประเภทอื่นๆ อย่างต่อเนื่องร่วมกันเพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามโครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) ต่อไป.
อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า อุบัติเหตุจากการทำงานสามารถป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้ หากมีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการพึงให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ค่าใช้จ่ายจากการนำระบบความปลอดภัยเข้ามาใช้ในความเป็นจริงแล้วจะมีอัตราต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียเนื่องจากการรักษาพยาบาลของพนักงานที่เป็นโรค หรือจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากความไม่ปลอดภัยจากการทำงาน จึงขอฝากให้ทุกสถานประกอบการคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการของตน ป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุหรือความสูญเสียต่อชีวิตของลูกจ้างและทรัพย์สินของสถานประกอบกิจการ.